มองจังหวะก้าว ‘5G’ หลังประมูล หนทางกระตุ้นเศรษฐกิจ

จากการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 700,2600 เมกะเฮิรตซ์ และ 26 กิกะเฮิรตซ์ เพื่อรองรับเทคโนโลยี 5G ส่งผลให้มีรายได้รวมเข้ารัฐ 100,521 ล้านบาท

แบ่งเป็น คลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ แคท ชนะการประมูลจำนวน 2 ชุด ส่วนบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (เอดับบลิวเอ็น) ในเครือบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ชนะการประมูลจำนวน 1 ชุด

ขณะที่คลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ เอดับบลิวเอ็น ชนะการประมูลจำนวน 10 ชุด ส่วนบริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (ทียูซี) ในเครือบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ชนะการประมูลจำนวน 9 ชุด บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)

คลื่นความถี่ย่าน 26 กิกะเฮิรตซ์ เอดับบลิวเอ็น ชนะการประมูลจำนวน 12 ชุด ส่วนทียูซี ชนะการประมูลจำนวน 8 ชุด บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ชนะการประมูลจำนวน 4 ชุด และบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (ดีทีเอ็น) ในเครือบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ชนะการประมูลจำนวน 2 ชุด

Advertisement

ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) ระบุว่า จะนำผลการประมูลเข้าสู่ที่ประชุม กสทช. เพื่อลงมติรับรองผลอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์นี้ โดยจะมีการชำระค่าใบอนุญาตในวันเดียวกัน ซึ่งมีผู้ชนะการประมูลในคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ และ 26 กิกะเฮิรตซ์ จะขอเข้ารับใบอนุญาตภายในสิ้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ และคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการ 5G เชิงพาณิชย์ได้ก่อนเดือนกรกฎาคม 2563 หรือก่อนการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก

ทั้งนี้ ประเมินว่า ในปี 2563 จะมีการลงทุนด้านโครงข่ายทั้งระบบอยู่ที่ 133,000 ล้านบาท ขณะที่ปี 2564 จะมีการลงทุน 200,000 ล้านบาท โดย กสทช. จะเร่งให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) ติดตั้งโครงข่าย 5G บนเสาสัญญาณเดิมที่มีอยู่ทั้งระบบ 130,000 สถานีฐานในทันที โดยไม่ต้องผ่านเวทีประชาพิจารณ์

ประเทศไทยเปิดให้บริการระบบ 3G ล่าช้าถึง 8 ปี ขณะที่ระบบ 4G ล่าช้าถึง 4 ปี ดังนั้นการขับเคลื่อนให้เกิด 5G จึงต้องเร่งดำเนินการโดยเร็ว

5G จะทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ ในปี 2563 มีมูลค่า 177,039 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 1.02% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) ที่ 17,328,000 ล้านบาท จากมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจในปี 2563 ที่ 1,983 ล้านบาท จากระบบเศรษฐกิจรายภาค เช่น ภาคอุตสาหกรรมการผลิต 31.5% มูลค่า 624.62 ล้านบาท, ภาคการค้าและการเงิน 16% มูลค่า 317.86 ล้านบาท และภาคโทรคมนาคม 11.6% มูลค่า 229.03 ล้านบาท เป็นต้น

“ขณะที่ปี 2564 คาดว่า 5G จะทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 332,619 ล้านบาท และปี 2565 มีมูลค่า 476,062 ล้านบาท” ฐากรระบุ

หลังการประมูลครั้งนี้ เชื่อว่าจะมีกิจกรรมต่างๆ เกิดขึ้นมาช่วยให้เศรษฐกิจไทยกระเตื้องขึ้นบ้าง

อย่างไรก็ตาม ด้วยประสิทธิภาพอันทรงพลังของ 5G ที่จะถูกนำไปใช้ใน 3 รูปแบบหลัก (ยูสเคส) อาทิ การใช้งานในลักษณะบริการบรอดแบนด์เคลื่อนที่ที่สามารถรับ-ส่งข้อมูลความเร็วสูงในระดับกิกะบิตต่อวินาที ซึ่งจะตอบสนองความต้องการการส่งและรับข้อมูลที่มากขึ้นเรื่อยๆ

การเชื่อมต่ออุปกรณ์ในพื้นที่เดียวกัน ได้มากถึงระดับล้านอุปกรณ์ต่อตารางกิโลเมตร และมีการส่งข้อมูลระหว่างกันในปริมาณน้อยๆ จึงไม่ต้องการความเร็วสูง ซึ่งอุปกรณ์ทั่วไปจะมีราคาถูกและมีอายุการใช้งานของแบตเตอรี่ที่นานกว่าอุปกรณ์ทั่วไป เช่น อุปกรณ์อินเตอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ (ไอโอที) เป็นต้น

นอกจากนี้ การใช้งานที่มีความเสถียรมาก รวมทั้งมีความหน่วงในการส่งข้อมูลต่ำในระดับ 1 มิลลิวินาที จึงเหมาะกับการใช้งานระบบที่ต้องการความแม่นยำสูง เช่น การผ่าตัดทางไกล หรือการควบคุมรถยนต์ไร้คนขับ

ย่านความถี่ที่สำคัญที่ “โอเปอเรเตอร์” ต้องมีเพื่อให้บริการ 5G ได้ครอบคลุมการใช้งานข้างต้น จึงต้องประกอบด้วย 3 กลุ่มย่านความถี่ ได้แก่

1.ย่านความถี่ต่ำ หรือโลว์แบนด์ (ต่ำกว่า 1 กิกะเฮิรตซ์) เช่น คลื่นความถี่ย่าน 700, 900, 1800 และ 2100 เมกะเฮิรตซ์ เป็นต้น เพราะเป็นย่านความถี่ที่มีคุณสมบัติด้านความครอบคลุมของสัญญาณ

2.ย่านความถี่กลาง หรือมิดแบนด์ (ตั้งแต่ 1-6 กิกะเฮิรตซ์) เช่น คลื่นความถี่ย่าน 2600, 3500 เมกะเฮิรตซ์ เป็นต้น ซึ่งเป็นย่านความถี่ที่เหมาะสมทั้งเพื่อรองรับความครอบคลุมของสัญญาณ และรองรับความจุของโครงข่าย

3.ย่านความถี่สูง หรือไฮแบนด์ (มากกว่า 6 กิกะเฮิรตซ์) เช่น คลื่นความถี่ย่าน 26, 28 กิกะเฮิรตซ์ เป็นต้น ซึ่งเป็นย่านความถี่ที่มีคุณสมบัติด้านการรองรับความจุได้สูงมาก เนื่องจากมีขนาดความกว้างแถบความถี่ (แบนด์วิดท์) ที่กว้างมาก และมีความหน่วงต่ำจึงเน้นใช้งานในพื้นที่ที่มีปริมาณการใช้งานสูง อาทิ อาคารสูง ห้างสรรพสินค้า

จึงเห็นได้ว่า คลื่นความถี่ย่าน 700,2600 เมกะเฮิรตซ์ และ 26 กิกะเฮิรตซ์ ที่ กสทช. นำออกประมูล ล้วนเป็นคลื่นความถี่ที่มีความสำคัญในการให้บริการ 5G ฉะนั้น โอเปอเรเตอร์รายใดครอบครอง 3 กลุ่มย่านความถี่นี้ไว้ในกำมือได้ก่อนย่อมได้เปรียบ

ทั้งนี้ ก็ไม่ง่ายว่าประมูลคลื่นความถี่เสร็จปั๊บ แล้วจะเปิดให้บริการ 5G เชิงพาณิชย์ได้ปุ๊บ เนื่องจากคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ ในปัจจุบันยังติดให้บริการในกิจการไมโครโฟน กว่าจะนำมาให้บริการในกิจการโทรคมนาคมได้เดือนเมษายน 2564

ส่วนคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในการครอบครองของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาวงเงินเยียวยากรณีเรียกคืนคลื่นความถี่ ซึ่งที่ประชุม กสทช. มีมติเห็นชอบกรอบวงเงินเยียวยาที่ 6,685.1 ล้านบาท แต่ยังไม่มีท่าทีว่าจะจบลงอย่างไร เพราะที่ประชุม กสทช. ล่าสุด มอบหมายให้คณะอนุกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมายของ กสทช. กลับไปศึกษาระยะเวลาในการถือครองคลื่นความถี่อีกครั้งว่าจะยึดหลักตามระบบสัมปทานคือ 15 ปี หรือยึดตามระบบใบอนุญาต 10 ปี หรืออาจจะเป็น 13 ปี 6 เดือน

หากได้ข้อสรุปว่า ยึดหลักตามระยะเวลาถือครองคลื่นความถี่ที่เท่าไรให้คิดบนพื้นฐานระยะเวลา 15 ปี โดยลดหลั่นจากราคา 6,685.1 ล้านบาท เป็นสัดส่วนตามระยะเวลาที่ลดลง

ขณะที่คลื่นความถี่ย่าน 26 กิกะเฮิรตซ์ ปัจจุบันยังไม่มีผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคม (เวนเดอร์) ผลิตอุปกรณ์ขึ้นมารองรับ

หลังการประมูลผ่านไป เชื่อว่าโอเปอเรเตอร์คงอยากรู้ว่า คลื่นความถี่จะพร้อมใช้งานได้เมื่อใด จะเปิดให้บริการ 5G ได้ตามที่หวังไว้หรือไม่…ต้องติดตาม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image