“อีไอซี” หั่นเป้าจีดีพีเหลือ 1.8% บ่งชี้ศก.ไทยเปราะบาง หลายภาคศก.เข้าสู่ภาวะถดถอย

อีไอซีหั่นจีดีพีปีนี้โต1.8%
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 19 ก.พ.63 ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้เผยแพร่บทวิเคราะห์ของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรืออีไอซี โดยอีไอซีได้ปรับลดคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของปีนี้ เหลือ 1.8% จากเดิมคาดไว้ที่ 2.1% เนื่องจากสถานการณ์เชื้อไวรัสโควิด-19 มีแนวโน้มรุนแรงและน่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยมากกว่าที่คาดไว้เดิม นอกจากนี้ ได้ประเมินจีดีพีไตรมาสแรกของปีนี้จะชะลอลงอย่างมาก ผลกระทบจากโควิด-19 ส่งผลถึงจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลงและภาวะการค้าโลกกลับมาชะลอลงหลังจากเศรษฐกิจโลกส่งสัญญาณฟื้นตัวผ่านพ้นจุดต่ำสุดมาแล้วก่อนหน้านี้ โดยเป็นการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนเป็นหลัก ซึ่งจะส่งผลต่อการฟื้นตัวของภาคส่งออกไทยในระยะข้างหน้าด้วย อีไอซีคาดการณ์สถานการณ์โควิด-19 จะใช้เวลาประมาณ 5 เดือน ก่อนจะกลับมาเป็นปกติในเดือนมิถุนายนนี้ จะส่งผลกระทบมากที่สุดในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้

และอีกปัจจัยสำคัญคือปัญหาความล่าช้าของงบประมาณ 2563 ส่งผลให้การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐหดตัว สำหรับการบริโภคภาครัฐหดตัวครั้งแรกในรอบ 8 ไตรมาสที่ -0.9% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน และการลงทุนภาครัฐหดตัวที่ -5.1% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการหดตัวครั้งแรก ในรอบ 4 ไตรมาส จึงเป็นอีกปัจจัยสำคัญกระทบต่อจีดีพี ทั้งนี้คาดว่าจีดีพีไตรมาสแรกจะชะลอลงมากที่สุด ก่อนจะค่อยๆฟื้นตัวในระยะถัดไป

อีไอซีได้ประเมินถึงเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 ปี 2562 ขยายตัวที่ 1.6% ชะลอลงเมื่อเทียบไตรมาส 3 ปี 2562 อยู่ที่ 2.6% นับเป็นการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 21 ไตรมาส ผลจากการส่งออกที่ยังหดตัวต่อเนื่อง รวมถึงการบริโภคและการลงทุนภาครัฐที่หดตัวจากความล่าช้าของงบประมาณปี 2563 และทั้งปี 2562 เศรษฐกิจไทยขยายตัวที่ 2.4% ต่ำกว่าคาดการณ์ของอีไอซีเล็กน้อยที่ 2.5% และเป็นอัตราขยายตัวต่ำสุดในรอบ 5 ปี นับตั้งแต่ปี 2557

อีไอซี ประเมินว่า ตัวเลขจีดีพีล่าสุด บ่งชี้ถึงความเปราะบางของเศรษฐกิจไทยมีมากขึ้น แม้ในภาพรวมจะยังไม่เข้าสู่ภาวะ Technical Recession หรือการถดถอยทางเทคนิค แต่สะท้อนถึงหลายภาคเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิคแล้ว เช่น การส่งออก การลงทุนภาครัฐ การบริโภคสินค้ายานยนต์ สาขาก่อสร้าง และภาคเกษตร อย่างไรก็ตาม คาดว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐจะช่วยสนับสนุนให้การบริโภคสินค้ากึ่งคงทน สินค้าไม่คงทน และบริการให้ยังสามารถขยายตัวได้ในระดับ 2.7%, 2.6%, และ 8.5% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ จากปัจจุบันการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวชะลอลงที่ 4.1% ผลจากสินค้าคงทนเป็นสำคัญ ติดลบ -4.1% จากที่เคยขยายตัว 1.6% ในไตรมาสก่อนหน้า

Advertisement

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image