“มนัญญา” เล็งยื่นคกก.วัตถุอันตราย บี้โรงงานผลิตสารเคมีต้องได้ 3 มาตรฐาน

นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้ยื่นหนังสือถึงกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อนัดประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย และพิจารณาข้อเสนอของกระทรวงเกษตรฯ ที่ยกร่างประกาศกระทรวงเกษตรฯ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการในการผลิต การนำเข้า การส่งออก และการมีไว้ในครอบครอง ซึ่งวัตถุอันตรายที่กรมวิชาการเกษตรเป็นผู้รับผิดชอบ (ฉบับที่ …) พ.ศ. ….

นางสาวมนัญญา กล่าวต่อว่า โดยมีสาระสำคัญ คือ กำหนดให้สถานที่ผลิตวัตถุอันตราย หรือโรงงานผลิต ต้องได้การรับรองระบบมาตรฐานบริหารคุณภาพ ISO 9001 ได้รับการรับรองระบบมาตรฐานการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO 14001 และมีห้องปฏิบัติการซึ่งได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO/IEC17025 ด้านการวิเคราะห์วัตถุอันตราย จากสถาบันการตรวจรับรองมาตรฐาน โดยหน่วยงานมาตรฐานในประเทศไทย ยกเว้นสถานที่ผลิตสารชีวภัณฑ์ และสารสกัดจากพืช สถานที่ผลิตวัตถุอันตราย ที่ผู้ประกอบการได้รับอนุญาตให้ดำเนินการผลิตวัตถุอันตรายอยู่ก่อนแล้ว ให้ระยะเวลาดำเนินการปรับปรุงแก้ไขเป็นระยะเวลาอีก 2 ปี นับแต่วันที่ประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับ

ทั้งนี้ ไม่รวมถึงสถานที่ผลิตวัตถุอันตราย ที่ผู้ประกอบการได้รับอนุญาตให้ดำเนินการผลิตวัตถุอันตรายที่ถูกจำกัดการใช้ ซึ่งในการป้องกันอันตรายผู้ปฏิบัติงานนั้น กำหนดให้มีการตรวจสุขภาพผู้ปฏิบัติงานอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อป้องกันอันตรายจากการมีวัตถุอันตรายสะสมอยู่ในร่างกาย ถ้าผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับวัตถุอันตรายที่มีสารประกอบในกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟสหรือคาร์บาเมต ต้องตรวจหาระดับซีรัมโคลีนเอสเตอเรสด้วย

นางสาวมนัญญา กล่าวต่อว่า พร้อมจัดทำทะเบียนประวัติสุขภาพของผู้ปฏิบัติงานและหากตรวจพบวัตถุอันตรายสะสมในร่างกายจนถึงระดับอันตราย ต้องจัดให้ผู้นั้นได้รับการรักษาหรือไปปฏิบัติงานอื่นตามความเหมาะสม

Advertisement

อย่างไรก็ตาม ร่างประกาศกระทรวงดังกล่าว กรมวิชาการเกษตรได้จัดทําการรับฟังความคิดเห็นต่อร่างประกาศกระทรวงผ่านทางเว็บไซต์ ของกรมระหว่างวันที่ 27 มกราคม 2563 ถึง 12 กุมภาพันธ์​ 2563 รวม 15 วัน มีผู้ให้ความเห็น 10,258 คน ในจำนวนนี้ 9,590 คน หรือ 93.49% เห็นด้วย และที่เหลือ 668 ราย หรือ 6.51% ไม่เห็นด้วย

“ขณะนี้ มีโรงงานที่ขึ้นทะเบียนอยู่ทั้งสิ้น 143 โรงงาน หากคณะกรรมการวัตถุอันตราย เห็นชอบตามยกร่างประกาศกระทรวงเกษตรฯ ดังกล่าว กรมวิชาการเกษตรก็สามารถดำเนินการตามยกร่างได้เลย ซึ่งโรงงานที่ไม่สามารถปรับปรุงได้ตามมาตรฐาน ISO ที่กำหนดก็ไม่มีสิทธิ์ผลิตหน่ายสารเคมีทางการเกษตรเพื่อจำหน่ายอีกต่อไป” นางสาวมนัญญากล่าว

นอกจากนี้ ในการสำรวจสต็อกครั้งล่าสุด หรือเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2563 พบว่ามีจำนวนสารทั้งสิ้น 22,534.70 ตัน แบ่งเป็น พาราควอต 10,234.92 ตัน ไกรโฟเซต 10,583 ตัน และคอไพริฟอส 1,716 ตัน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image