‘กทพ.-บีอีเอ็ม’ ลงนามสัญญาขยายสัมปทานทางด่วนฉบับแก้ไขแล้ว มีผล 1 มี.ค.

กทพ.-บีอีเอ็ม ได้ลงนามสัญญาขยายสัมปทานทางด่วน เป็นฉบับบแก้ไข เรียบร้อยแล้ว โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มีนาคม นี้ ด้านการถอนฟ้องของทั้งสองฝ่าย คาดจะแล้วเสร็จภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563 เพื่อให้สัญญามีผลบังคับใช้ต่อเนื่องกับสัญญาเดิม

เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ นายสุรงค์ บูลกุล ประธานกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายหลังการเซ็นสัญญาทางด่วนฉบับแก้ไข ว่า กระทรวงคมนาคม การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมลงนามในสัญญาขยายสัมปทานทางด่วนทั้งหมด 2 ฉบับ โดยใช้ชื่อว่า สัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (ฉบับแก้ไข) และสัญญาโครงการทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด (ฉบับแก้ไข)

“เราได้ลงนามในการแก้ไขสัญญาขยายสัมปทาน และยุติข้อพิพาทของโครงการทางด่วนที่ 2 และสัญญาของการทางพิเศษบางปะอิน-ปากเกร็ด เป็นที่เรียบร้อยแล้ว นับว่าเป็นโอกาสที่ดีมากที่สามารถยุติเงื่อนไขการเจรจาได้ โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในการแก้ไขสัญญาโครงการระบบทางด่วนที่ 2-ปากเกร็ด เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา เพื่อแก้ไขปัญหาข้อพิพาทระหว่างการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยและ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ ซึ่งการแก้สัญญาในครั้งนี้จะทำให้ยุติข้อพิพาทลงทั้งหมด และจะไม่มีการนำมาฟ้องกันอีกในอนาคต” นายสุรงค์กล่าว

ส่วนการถอนฟ้องระหว่างกระทรวงคมนาคม การทางพิเศษ และ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพนั้น ทั้งสองฝ่ายจะดำเนินการถอนฟ้องข้อพิพาททั้งหมดที่มีอยู่ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563 เพื่อให้สัญญามีผลบังคับใช้ต่อเนื่องกับสัญญาเดิม ซึ่งสัญญาใหม่จะเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.เป็นต้นไป ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคม การทางพิเศษ จะประสานงานกับสำนักงานอัยการสูงสุด โดยนำมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) และหนังสือลงนามในสัญญาขยายสัมปทานใหม่ไปดำเนินการถอนฟ้องโดยเร็วที่สุด

Advertisement

“สำหรับข้อยุติข้อพิพาทครั้งนี้เป็นการแก้ไขข้อพิพาทที่เกิดขึ้นมากกว่า 25 ปี โดยการทางพิเศษมีความจำเป็นที่ต้องชดใช้เงินจำนวนประมาณ 4,300 ล้านบาท ให้กับ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ ซึ่งเสียหายมากแล้ว หาก กทพ.จะสู้คดียอมรับว่ามีโอกาสสูงที่อาจทำให้ประเทศชาติเสียหายเพิ่มขึ้นกว่า 3 แสนล้านบาท” นายสุรงค์กล่าว

อย่างไรก็ตาม อยากให้สังคมเข้าใจว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และบอร์ดการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เป็นผู้มาแก้ไขและการเจราจรครั้งนี้ ซึ่งการเจรจาดังกล่าวเป็นการเจรจาอย่างโปร่งใส และตรวจสอบได้ มีตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานอัยการสูงสุด และคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ได้ตรวจสอบทุกขั้นตอน เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศ ซึ่งการลงนามครั้งนี้นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ไม่ได้เข้าร่วม เพราะไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง เนื่องจากเป็นกระบวนการระหว่าง กทพ.กับบีอีเอ็มเท่านั้น

Advertisement

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image