‘กรมหม่อนไหม’ เปิดหน่วยส่งเสริมหม่อนไหม จ.ตรัง หวังเป็นศูนย์การเรียนรู้ 5 จว.ภาคใต้

นายวสันต์ นุ้ยภิรมย์ อธิบดีกรมหม่อนไหม เปิดเผยว่า กรมหม่อนไหมจัดตั้งหน่วยส่งเสริมขึ้นในจังหวัดตรัง เพื่อรับผิดชอบพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ ตรัง กระบี่ นครศรีธรรมราช พัทลุงและสตูล ซึ่งเดิมพื้นที่ทั้ง 5 จังหวัด มีศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ ชุมพร และ นราธิวาส รับผิดชอบ ทำให้การให้บริการงานด้านหม่อนไหมไม่ทันความต้องการของกลุ่มเกษตรกรและผู้ประกอบการด้านหม่อนไหม ประกอบกับสภาวะทางเศรษฐกิจที่มีผลให้พืชเศรษฐกิจ ประสบปัญหาด้านราคา อาชีพด้านหม่อนไหมจึงเป็นทางเลือกที่ดี กรมหม่อนไหมจึงได้ร่วมกับจังหวัดตรังและกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี จัดตั้งหน่วยส่งเสริมหม่อนไหมตรังขึ้น โดยใช้พื้นที่ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี ประมาณ 8 ไร่ สร้างแหล่งเรียนรู้ด้านหม่อนไหม เพื่อให้ผู้สนใจ เยาวชน ผู้ประกอบการ และบุคคลทั่วไปเข้ามาศึกษาเรียนรู้การประกอบอาชีพด้านหม่อนไหม ซึ่งในพื้นที่ ประกอบด้วย แปลงหม่อนใบพันธุ์สกลนครและพันธุ์บุรีรัมย์ เพื่อใช้เลี้ยงไหม และพันธุ์เชียงใหม่ซึ่งเป็นหม่อนผลสดเพื่อบริโภค ซึ่งหม่อนทั้งสองชนิดสามารถนำมาแปรรูป เป็นผลิตภัณฑ์ได้ อาทิ น้ำหม่อน ชาใบหม่อน เป็นต้น

ทั้งนี้  กรมหม่อนไหมได้มอบหมายให้สำนักงานหม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ เขต 5 จังหวัดชุมพร เป็นผู้กำกับดูแล หน่วยส่งเสริมหม่อนไหมตรัง โดยมีหน้าที่ ส่งเสริม สนับสนุน และให้บริการด้านหม่อนไหมกับเกษตรกรในพื้นที่ทั้ง 5 จังหวัด ศึกษาวิเคราะห์งานด้านหม่อนไหม ติดตามประเมินผลและประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับงานพัฒนาด้านหม่อนไหมในพื้นที่ และให้คำแนะนำในการปฏิบัติงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยได้จัดตั้งขึ้นเมื่อ 17 ตุลาคม 2562 ขณะนี้กรมหม่อนไหมได้เริ่มส่งเสริมให้มีการเลี้ยงไหม ซึ่งจะเริ่มสาวเส้นไหมได้ในเดือนหน้า เมื่อกลุ่มเกษตรกรสาวเส้นไหมได้จะสามารถลดจำนวนการสั่งซื้อเส้นไหมของกลุ่มลงได้

ขณะที่ ปัจจุบัน กลุ่มวิสาหกิจชุมชนได้รับการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทย (ตรานกยูงพระราชทาน) 2 ประเภท คือ ตรานกยูงพระราชทานสีน้ำเงิน ประเภทผ้าถุง ชนิดผ้ายก ประเภทลายประยุกต์ และตรานกยูงพระราชทานสีเขียว ประเภทผ้าคลุมไหล่ ชนิดผ้า ผ้ายก ประเภทลาย ลายประยุกต์ ชื่อลายแก้วชิงดวง

นอกจากนี้ ในพื้นที่นาหมื่นศรียังได้ปลูกหม่อนผลสด มีปริมาณผลผลิตประมาณ 1,350 กิโลกรัม ต่อไร่ ต่อปี จำหน่ายในราคากิโลกรัมละ 150 บาท ทำให้เกษตรกรในชุมชนมีรายได้สุทธิต่อปี จากการขายผลสด 142,800 บาท ต่อปี ไม่นับรวมรายได้จากการทอผ้า กรมหม่อนไหมตั้งหน่วยส่งเสริมหม่อนไหมขึ้นเพื่อจะพัฒนาให้เกษตรกรกลุ่มต่างๆ และกลุ่มผู้ทอผ้า ในพื้นที่ภาคใต้ให้สามารถผลิตเส้นไหมได้ เป็นการลดต้นทุนการผลิตผ้าไหม ทั้งนี้ บริษัท จุลไหมไทย จำกัด ได้สนับสนุนเส้นไหมที่ย้อมสีเรียบร้อยแล้ว จำนวน 10 กิโลกรัม เพื่อนำไปใช้ทอผ้าไหมนาหมื่นศรีต่อไป

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image