“แบงก์ชาติ” ชี้โควิด-19 ฉุดศก.ไตรมาส 2 ศก.ทรุดหนัก

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1 ปี 2563 อยู่ในภาวะชะลอตัว โดยช่วงเดือนมกราคม ชะลอตัวไม่มากเนื่องจากไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 แพร่ระบาดในช่วงปลายเดือน ซึ่งส่งผลให้เดือนกุมภาพันธ์ เศรษฐกิจไทยชะลอตัวมากที่สุด โดยนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศลดลง 40-45% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีที่ผ่านมา รวมถึงการส่งออกสินค้าที่ไม่รวมทองคำ การผลิตภาคอุตสาหกรรม การลงทุนภาคเอกชน และการใช้จ่ายภาครัฐหดตัวต่อเนื่อง และคาดว่าหากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั้งปียังคงไม่ดีขึ้น ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ จีดีพีทั้งปี 2563 มีโอกาสที่จะต่ำกว่า 1%

“มองว่าไวรัสโควิด-19 จะมีการแพร่ระบาดหนักที่สุดในช่วง 2-3 เดือนแรก หลังจากนั้นจะมีจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงเรื่อยๆ และหากผ่านช่วง 2 เดือนนี้ไปได้ ประเทศไทยจะเข้าสู่หน้าร้อน เรื่องไวรัสจะเบาลงยิ่งขึ้นอีก เนื่องจากเชื้อโรคกลัวความร้อนในระดับหนึ่ง” นายดอนกล่าว

นายดอน กล่าวว่า การใช้จ่ายภาครัฐหดตัวสูงเนื่องจาก พ.ร.บ. งบประมาณยังไม่ประกาศใช้ และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลงต่อเนื่อง รวมทั้งสถาบันการเงินที่ยังระมัดระวังในการให้สินเชื่อแก่ภาคครัวเรือนหลังคุณภาพสินเชื่อด้อยลง แม้รายได้เกษตรกรจะขยายตัวสูงในเดือนนี้ แต่แนวโน้มทั้งปีคาดว่าจะหดตัวจากปัญหาภัยแล้ง โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวชะลอลงตามการใช้จ่ายหมวดบริการ แม้การใช้จ่ายหมวดสินค้าไม่คงทนปรับดีขึ้นบ้างตามยอดขายสินค้าอุปโภคบริโภค หลังจากลดลงมากในช่วงก่อนหน้า และการใช้จ่ายหมวดสินค้าคงทนหดตัวน้อยลงตามยอดขายรถยนต์ ที่ได้รับผลดีจากการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ ทั้งนี้การผลิตภาคอุตสาหกรรมยังคงหดตัวสอดคล้อวกับความต้องการซื้อทั้งในและต่างประเทศชะลอลง

นายดอน กล่าวว่า สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 1.05% เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ตามอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานที่กลับมาขยายตัว ส่วนหนึ่งจากผลของฐานราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ต่ำในปีก่อน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับลดลงเล็กน้อย ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลลดลงตามดุลการค้า ขณะที่ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายเกินดุลสุทธิ ทั้งจากด้านสินทรัพย์ตามการถอนเงินฝากในต่างประเทศของกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ และด้านหนี้สินตามการเข้ามาลงทุนโดยตรงของนักลงทุนต่างประเทศ ส่วนใหญ่จากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งการกู้ยืมสินเชื่อระยะสั้นของสถาบันการเงินที่รับฝากเงินไทยเป็นสำคัญ

Advertisement

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image