คิดเห็นแชร์ : ‘ความสร้างสรรค์’… สร้างงาน สร้างรายได้

สวัสดีแฟนๆ คิดเห็นแชร์ทุกท่านครับ เริ่มเข้าสู่ฤดูร้อนของบ้านเราอย่างเป็นทางการ แต่ที่น่าจะร้อนกว่าอากาศก็คือ สถานการณ์ไวรัส COVID-19 ที่กำลังแพร่กระจายอย่างรวดเร็วในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยเองก็กำลังเผชิญกับสถานการณ์อันแสนยากลำบากนี้อยู่เช่นกัน ถึงแม้ว่าอัตราการติดเชื้อของ     ผู้ป่วยในบ้านเรายังไม่สูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ แต่ก็ยังไม่สามารถวางใจและไม่อาจคาดการณ์ได้ว่า สถานการณ์ดังกล่าวจะคลี่คลายลงเมื่อใด ซึ่งในห้วงนี้ ผมอยากให้ทุกท่านเตรียมพร้อมรับมืออย่างมีสติ      ไม่หลงเชื่อข่าวปลอมที่ทำให้ตื่นตระหนก โดยให้ติดตามข่าวสารจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถืออย่างใกล้ชิด

เพราะผมเชื่อว่าหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ได้ผนึกกำลังร่วมมือกันหาแนวทางเพื่อป้องกัน และรับมือกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น พร้อมทั้งเร่งหามาตรการรองรับในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ภายหลังจากปัญหาได้คลี่คลายแล้ว

สำหรับเรื่องที่ผมอยากแชร์ในครั้งนี้ เป็นเรื่องต่อเนื่องมาจากครั้งก่อน ๆ ที่ผมเคยได้เขียนแชร์รายละเอียดของนโยบาย “ปั้น ปรุง เปลี่ยน เอสเอ็มอี ให้ดีพร้อม (DIProm)” ซึ่งนโยบายการ “ปั้น” ยังมีอีกหนึ่งภารกิจสำคัญ ที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมต้องเร่งขับเคลื่อน คือ การปั้นเอสเอ็มอี ให้มีแนวคิดความสร้างสรรค์ ซึ่งหลายท่านคงเกิดคำถามว่า “ความสร้างสรรค์” คืออะไร อีกทั้งจะช่วยพัฒนาและยกระดับพี่น้องผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยได้อย่างไร

ผมจะขอใช้พื้นที่นี้แชร์ให้ทุกๆ ท่านได้รับทราบกันครับ

Advertisement

หากเอ่ยถึงความสร้างสรรค์ อาจพบว่ามีได้หลายมิติ ซึ่งล้วนแต่สร้างให้เกิดมูลค่าเพิ่มแทบทั้งสิ้น

ทั้งในมิติด้านวิทยาศาสตร์ เช่น เทคโนโลยีและนวัตกรรม มิติด้านศิลปศาสตร์และประวัติศาสตร์ เช่น งานออกแบบ งานศิลปะ อัตลักษณ์ มิติด้านอักษรศาสตร์และนิเทศศาสตร์ เช่น การสร้างเรื่องราวให้น่าสนใจ    มิติด้านธุรกิจ เช่น รูปแบบการทำธุรกิจ (Business Model) เป็นต้น ซึ่งในมุมของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม “ความสร้างสรรค์” คือ การรวมเอาทุกศาสตร์ที่กล่าวมาข้างต้น มาบูรณาการเพื่อก่อให้เกิดการสร้างรายได้ให้กับธุรกิจ ด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าหรือบริการบนพื้นฐานของการใช้องค์ความรู้

Advertisement

ความคิดสร้างสรรค์ และการใช้ทรัพย์สินทางปัญญา รวมทั้งเชื่อมโยงกับทุนทางวัฒนธรรม ต่อยอดภูมิปัญญา สร้างอัตลักษณ์ท้องถิ่น ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ และสร้างเรื่องราวให้เกิดความน่าสนใจ ซึ่งที่ผ่านมา กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้ดำเนินโครงการ หมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ หรือหมู่บ้านซีไอวี (Creative Industry Village : CIV) โดยใช้ความสร้างสรรค์เป็นหัวใจในการพัฒนาชุมชนให้มีรายได้เพิ่มขึ้น จากเดิมที่คนในชุมชนประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก และคาดหวังรายได้จากราคาพืชผลสินค้าเกษตรเพียงอย่างเดียว แต่หากเราใช้ความสร้างสรรค์เข้ามาช่วยสร้างมูลค่าเพิ่ม ผ่านฉันทามติของชุมชน

ค้นหาประเด็นความสร้างสรรค์ สร้างให้เกิดรูปแบบการทำธุรกิจ (Business Model) จะทำให้สามารถเพิ่มช่องทางสำหรับสร้างรายได้จากธุรกิจเหล่านั้นได้ ตัวอย่างเช่น หมู่บ้านซีไอวีบ้านน้ำเกี๋ยน อ.ภูเพียง จ.น่าน    ที่มีการสร้างเรื่องราวนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาเป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจ สร้างมูลค่าเพิ่มจากพืชผลทางการเกษตรที่มีอยู่ในพื้นที่ อาทิ นำมะไฟจีนมาแปรรูปเป็นเครื่องสำอาง  นำใบเมี่ยงมาทำชาเมี่ยง แชมพู และครีมบำรุงผิว ต่อยอดสร้างศูนย์การเรียนรู้ให้นักท่องเที่ยวมาชมวิธีการแปรรูปผลิตภัณฑ์สำหรับใช้ในครัวเรือน ถือเป็นการท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่ได้ทั้งความรู้และเพลิดเพลินไปกับแปลงสมุนไพรหลากชนิด นอกจากนี้ยังมีกลุ่มผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติ ตอบโจทย์คนรักสุขภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จุดเด่นต่างๆ เหล่านี้ จะเป็นแม่เหล็กดึงดูดให้นักท่องเที่ยวแวะเวียนเข้ามาเที่ยวในชุมชน เกิดการจับจ่ายใช้สอย ทำให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ สิ่งที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมกำลังดำเนินการ สอดคล้องกับแนวคิดของรองนายกรัฐมนตรี ท่านสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่ต้องการสร้างให้เกิดกลไกการกระจายรายได้สู่ชุมชน เพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งสอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง ผ่านแนวคิดการยกระดับโครงการ OTOP เฟสที่ 1 ที่เน้นส่งเสริมผลิตภัณฑ์ที่เด่นๆ ดังๆ ของชุมชน ให้เป็นโครงการ OTOP เฟสที่ 2 ที่จะยกระดับและขยายผลให้เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวโอท็อป หรือโอท็อปวิลเลจ (OTOP Village) โดยใช้การท่องเที่ยวเป็นหัวขบวนในการสร้างให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ก่อให้เกิดการกระจายรายได้สู่คนในชุมชน เช่น ธุรกิจที่พัก ร้านอาหาร ของฝาก/ของที่ระลึก รวมถึงกิจกรรมสันทนาการ เป็นต้น

โดยล่าสุด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ท่านสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมพัฒนาหมู่บ้านซีไอวีให้มีความโดดเด่น และให้ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคทั้ง 11 แห่งทั่วประเทศ เฟ้นหาหมู่บ้านซีไอวีในพื้นที่ที่มีศักยภาพพร้อมที่จะยกระดับเป็นโอท็อปวิลเลจ จำนวน 11 หมู่บ้าน สร้างเป็นแลนด์มาร์กหรือจุดเช็กอินใหม่ ๆ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้แวะเวียนไปเที่ยวชม และเกิดความประทับใจเมื่อได้มาสัมผัส

ท้ายที่สุดนี้ ผมเชื่อว่าความสร้างสรรค์จะเป็นหัวใจสำคัญที่จะสร้างมูลค่าเพิ่ม กระจายรายได้สู่คนในชุมชนอย่างแท้จริง ซึ่งจะเป็นพลังที่ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง พึ่งพาตัวเองได้ และผมคาดหวังว่า จะได้เห็นคนรุ่นใหม่ ที่มีไอเดียดีๆ นำสิ่งเหล่านี้กลับไปพัฒนาถิ่นฐานบ้านเกิดของเขา ต่อยอดจากความสร้างสรรค์จากต้นทุนที่มีอยู่เดิม เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้อย่างยั่งยืน และดีพร้อมไปด้วยกัน

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image