“วีระศักดิ์” แนะใช้วิกฤตให้เป็นโอกาสสร้างฐานศก. ทั้งซ่อม สร้าง แก้ เพื่อการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนระยะยาว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 8 มี.ค.ที่ผ่านมา นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้โพสต์เฟซบุ๊กเกี่ยวกับเรื่องไวรัสโคโรนา หรือ โควิด-19 ว่า “บันทึกไว้ในวันเสาร์ที่ 7 มีค. 2563 (2020) ว่าวันนี้เป็นช่วงที่ครบเดือนของการที่องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ประกาศภาวะฉุกเฉินระหว่างประเทศของการระบาดของไวรัส โควิด19 ข้อสังเกตที่ทุกฝ่ายยอมรับคือ ถ้าใครไม่ปรากฏอาการใน 14 วัน ก็สบายใจได้ว่า คนๆนั้นยังปลอดภัยจากโรคนี้อยู่ แต่มีเงื่อนไขว่าคนเดียวกันนั้นต้องไม่ได้เผลอรับเชื้อนี้มาเพิ่มเติมในระหว่างนั้น นี่คือที่มาที่ต้องมีการให้กักตัวเองบ้าง..บังคับกักตัวรอดูอาการบ้าง ซึ่งจะว่าไปก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินไปที่จะร่วมมือ
เพราะมันคือความรู้รับผิดชอบ..ของใครก็ตามที่ยังไม่อาจยืนยันได้ว่าตัวเองเผลอรับเชื้อมาแล้วหรือไม่สถานการณ์ในไทยเวลานี้..มีปรากฏผู้ติดเชื้อก็ยังต่ำกว่า 50 คนมาตลอด
และทุกคนที่พบว่าติดเชื้อก็รู้ว่า ติดมาจากชาวต่างชาติหรือติดจากคนไทยที่ใกล้ชิดสัมผัสกับชาวต่างชาติใกล้ชิดทั้งนั้น นับว่าระบบคัดกรองที่ไทยเริ่มก่อน..และทำนานพอนี้..มีประสิทธิผลดีมาก

เพราะหากหลุดตาจากระบบตรวจคัดกรองไปมากป่านนี้ตัวเลขคงทะลุหลายร้อยหรือไปถึงพันเสียแล้วเพราะพอผ่านไปทุก14วัน..ยังไงๆถ้าเค้ามีอาการเพราะติดเชื้อ เค้าก็ซ่อนมันไว้ไม่ได้อยู่แล้ว..จุดนี้จึงขอชื่นชมระบบที่ไทยมี..ครับ

นายวีระศักดิ์กล่าวว่า อย่างไรก็ดี..ตัวเลขการระบาดในไทยแตกต่างจากตัวเลขผลกระทบทางเศรษฐกิจการท่องเที่ยวชนิดไม่เห็นฝุ่นเชียวครับ เมื่อวานนี้ผมได้รับเชิญจากผู้สื่อข่าวอาวุโสด้านการท่องเที่ยวภาคภาษาอังกฤษ คุณ อิมเทียส มุคบิล ให้ไปร่วมแสดงความคิด ถอดประสบการณ์ และมองอนาคตท่องเที่ยวไทย ที่สำนักงานใหญ่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท)จึงขอหยิบยกบางส่วนมาเล่าต่อในที่นี้นะครับ

ข้อแรก…
ในเมื่อสังคมโลกและสังคมไทย..ตื่นตระหนกมากกว่าแค่ตื่นตัวข่าวลือ..ข่าวปล่อย..ข่าวไม่จริงจึงไหลเร็วแชร์เร็วและมีผู้พร้อมเชื่อเยอะ..สิ่งที่ควรทำในทุกสังคม จึงควรมีศูนย์ข่าวที่เป็นทางการเพื่อแถลงข่าวสารเรื่อง โควิด19 ทุกวัน โดยผมเสนอว่าแถลงเป็นทางการทุก 11.00น.กับอีกทีตอน 17.00น.เพื่อให้ผู้คนแน่ใจว่าไม่ว่าสงสัยอะไรเกี่ยวกับโควิด19 ก็ให้รอฟังจากการแถลงชี้แจงสองช่วงเวลานี้ของทุกวัน..วันละ 2 เวลาอะไรที่ฟังจากแหล่งนี้..แปลว่าจริงตามนี้เท่านั้นการสื่อสารในสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างนี้ สำคัญที่สุด เพราะจะช่วยลดความอลหม่านลงได้…และจะช่วยให้คนทำงานสนามไม่ต้องให้สัมภาษณ์เปะปะตลอดเวลาเพราะอาจมีสาระที่ขัดหรือแย้งกันเอง เวลาที่ไม่ใช่ 11.00 และ 17.00 ทีมที่จะต้องมาแถลงข่าวสารจะได้มีเวลาตรวจสอบ..สอบทานข้อมูลให้เรียบร้อยได้ก่อน บรรดาสำนักข่าวเองก็จะได้มีเวลาที่แน่นอนในการรับข่าวสารไปถ่ายทอดต่อ

Advertisement

ข้อสอง…
เมื่อมีสาระที่จะแถลงข่าวเป็นภาษาท้องถิ่นวันละสองหนแล้ว..ก็ต้องนึกถึงการแถลงข่าวเป็นภาษาต่างประเทศที่สาระไม่ขัดแย้งกันด้วย แต่อาจให้มีการแถลงวันละครั้งเดียวตอน11.00 หรือตอน 17.00 ก็ได้เพราะสังคมชาวต่างชาติที่อาศัยในพื้นที่และโลกสากลมีมากและหลากหลาย..จึงพึงได้รับข่าวสารที่ถูกต้องเชื่อมั่นได้..อ้างอิงได้

ข้อสาม…
การประเมินผลกระทบ..ทั้งในด้านสุขภาวะของพื้นที่..ความเสียหายและโอกาศทางเศรษฐกิจและธุรกิจ..ความเสี่ยงทางสังคมและโอกาสใหม่ทางสังคมควรได้รับการประมวลมา ทยอยนำเสนอต่อสาธารณะ…สม่ำเสมอ..เพื่อมิให้เกิดการรับรู้เฉพาะผลเสียหายอย่างเดียวเพราะถ้าสังคมรับรู้ว่าในทุกวิกฤตก็ย่อมก่อโอกาสให้เสมอ สังคมจะได้ไม่เสียกำลังใจ
และมีมุมที่จะมองอะไรๆใหม่ๆสม่ำเสมอ

ข้อสี่…
การตำหนิวิจารณ์ใครไม่ว่าฝ่ายไหน..หรือในบทบาทใดในสภาวะพิเศษเหล่านี้..เป็นสิ่งที่ย่อมต้องทำได้เพราะนั่นคือการระบายออกอย่างหนึ่ง..เป็นสิทธิทางสังคมอย่างหนึ่ง..แต่จะเป็นประโยชน์ที่สุดถ้าหากจบท้ายด้วยข้อเสนอแนะที่เห็นว่าควรทำได้.. และผู้ออกมาวิจารณ์นั้นจะเข้าช่วยทำประโยชน์สาธารณะต่อจากนั้นได้อย่างไร

Advertisement

ข้อห้า…
ถ้าเชื่อว่าในวิกฤตย่อมมีโอกาสแม้โอกาสนั้นๆไม่อาจจะชดเชยความเสียหายจากวิกฤตก็ตามแต่ แต่ถ้าไม่ปล่อยให้ความเสียหายเล่นบทเดี่ยวไปจนจบ..แม้ใช้โอกาสได้เเม้สักนิด..มันก็ยังเป็นประโยชน์ล่ะสิ่งที่พอจะเป็นโอกาสในสภาวะวิกฤตโควิด19 หนนี้ เท่าที่ผมพอจะนึกเอาเร็วๆได้ เช่น..ปีงบประมาณแผ่นดินหนนี้..มีเงินแผ่นดินที่ปกติให้ราชการใช้ 12เดือน
แต่บัดนี้ พรบ.งบประมาณเพิ่งได้ผ่านออกมาใช้โดยเหลือเวลาแค่มีนา-สิ้นกันยา คือ 7เดือน ถ้าเราสามารถมีฉันทามติให้เปลี่ยนแปลงรายการใช้จ่ายให้มาเป็นเรื่องที่ควรจะเป็นทั้งเพื่อป้องกัน.. พยุง.. ชะลอ..เเก้ไข..หรือเยียวยา จากการมาอย่างรวดเร็วของโควิด19 ได้มากเท่าไหร่..ก็จะใช้ประโยชน์ที่เกิดได้จากวิกฤตมากเท่านั้น

นโยบายการเงินหรือ monetary policy มีผลเร็วแต่มักใช้นานไม่ได้ และกำหนดผู้รับประโยชน์ให้แคบตรงกลุ่มได้ไม่ง่ายนโยบายการคลัง หรือ fiscal policy มีผลช้ากว่าแต่ ออกแบบให้ไปถึงกลุ่มเป้าหมายได้แม่นกว่าหน่อยดังนั้นมาตรการทั้งคู่..คงต้องออกมาคู่กันและมีคำอธิบายว่ายาทั้งสองจะออกฤทธิ์ผสมผสานต่ออาการที่ต้องการดูแลแก้ไข อย่างไร
ใครและหรืออะไรคือกลุ่มเป้าหมาย..ใครคือผู้ที่จะเป็นกลไกให้..กลไกที่ว่ามีกระจายกันอยู่เพียงพอแค่ไหน..

ที่สำคัญได้เปิดช่องทางและกลไกให้ฝ่ายอื่นที่ไม่ใช่รัฐบาลกลาง สามารถเข้าช่วยประกอบด้วยหรือยัง เงินและเครือข่ายของคนมีฐานะ..พลังของคนชั้นกลาง หรือชั้นฐานรากต่างๆ ที่อาจจะอยากทำประโยชน์ร่วม..ทุนและพลังขององค์กรส่วนท้องถิ่น.. สหกรณ์.. สมาคม.. นิคม..กลุ่มประชาสังคม.. สามารถเข้าร่วมได้อย่างไร จะได้ไม่ต่างคนต่างทำไป

ผู้จะรับประโยชน์ที่เป็นเป้าหมายจะได้ไม่หัวหมุน..งุนงง..ไปกับสารพัดกติกาเงื่อนเวลา เงื่อนไข ที่ผู้จะมาช่วยต่างคนต่างกำหนดผลย่อมไม่มีพลังเชิงถักทอ..ไปอย่างน่าเสียดาย
ในด้านนโยบายการเงิน..อย่ามองเห็นแต่เฉพาะเจ้าของกิจการ SME เท่านั้น..แต่พึงมองเห็นลูกจ้าง..และแรงงานผู้รับจ้างด้วยยิ่งถ้าต้องตกงานหรือถูกบังคับให้ leave with out pay ยิ่งต้องใส่ใจกับเรื่องเงินสดจะขาดมือ จนเขาต้องกู้นอกระบบอาจเป็นวงจรปัญหาใหม่การแจกเงินนั้น..คงถูกวิจารณ์ไปตามสภาพแล้ว

แต่ถ้ามีโครงการแนว “เงินผัน” ไปให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหลาย รับงบไปแล้ว แก้ระเบียบระบบให้ท้องถิ่น สามารถเอาเงินท้องถิ่นมาสมทบทำเพิ่มที่จะช่วยให้ เกิดสภาพเมืองน่าอยู่ เช่น จ้างแรงงานในท้องถิ่นมาช่วยกันปรับปรุงทางเท้า ทางลาด ปรับปรุงศาลาริมทาง ราวกันตก ทาสีฟุตบาท. ทาสีทางม้าลาย จ้างรื้อพงที่รกร้าง..เก็บกวาดเศษวัสดุที่มักถูกกองทิ้งตามที่ต่างๆออก..จ้างขุดลอกตะกอนในทางน้ำแหล่งน้ำเตรียมรับหน้าฝน..เพิ่มแหล่งน้ำให้มีประสิทธิภาพ…จ้างทาสีสนามกีฬา ..รั้วส่วนราชการ..จ้างเปลี่ยนหลอดไฟริมทาง..ติดตั้งดวงโคมในซอยที่เปลี่ยวมืด..ทาวีป้าย..แก้ไขคำในป้ายบอกทางที่เคยถูกเอามาวิจารณ์..

จ้างเก็บผักตบ..จ้างรถมาช่วยขนช่วยเก็บใบอ้อยและตอซัง เพื่อนำส่งไปขายให้โรงปูนโรงน้ำตาลที่รับซื้อตันละพันบาท(จะได้ลดการเผาในทุ่ง)..จ้างตัดแต่งกิ่งริมทาง..จ้างทีมนักศึกษาคณะสัตวแพทย์ไปบริการทำหมันหมาแมวทั้งที่มีเจ้าของหรือจรจัด….จ้างสำรวจขจัดสิ่งกีดขวางการใช้สาธารณูปโภคและบริการสาธารณะของคนสูงอายุ..ผู้พิการ ล้วนเป็นงานมากมายจิปาถะ..ที่ไม่ได้ต้องการทักษะพิเศษเศษอะไรมากนัก..แต่ต้องการคนที่จะว่างงาน.. ต้องการรายได้ในแต่ละท้องถิ่นให้มีกิจกรรมในที่โล่ง..เงินได้ผันไปสู่คนท้องถิ่น ..พยุงกำลังจับจ่ายใช้สอย..และได้ประโยชน์ต่อเมืองที่อยู่และต่อกระเป๋าของผู้เกี่ยวข้องได้กว้างขวาง ในด้านคนจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่จู่ๆมีเวลาว่างเหลือเฟือ..เพราะลูกค้าหายไป..รัฐก็อาจจ้างให้บริษัทนำเที่ยวไปทำรายงานสำรวจ พร้อมผลิตโปรแกรมนำเที่ยวมาเสนอแล้วให้ใครๆก็เอาไปใช้ได้ว่า..ถ้าอีกหน่อยใครจะพาลูกทัวร์ไปเที่ยวเพื่อเป้าหมายการลดความยากจน..ลดความเหลื่อมล้ำด้วยการใช้เศรษฐกิจการท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือนั้น..ทุกจังหวัดทั้งหลักและรองมีเส้นทางไหน ทำอย่างไรได้อีก

ถ้าแต่ละจังหวัดมีเส้นทางเที่ยวแนวนี้ได้ใหม่ๆ สักจังหวัดละสิบยี่สิบเส้นทางนี่ก็เป็นโอกาสที่จะได้จากวิกฤตหนนี้ ใช้เวลาว่างให้ได้ค่าจ้างและกระจายประโยชน์ให้ชุมชนชาวบ้าน
สำหรับมัคคุเทศก์นั้น..นอกจากรัฐควรจัดอบรมเพิ่มทักษะให้..แต่ยังควรจ้างมัคคุเทศก์มาช่วยสร้างนักสื่อความหมายท้องถิ่น..จ้างมัคคุเทศก์ที่เก่งภาษาต่างประเทศไปถ่ายทอดให้ไกด์ท้องถิ่น..ยุวมัคคุเทศก์รุ่นเยาว์..จ้างคนนำดำน้ำให้มาเปิดสอนถ่ายทอดวิชาให้เด็กๆลูกชาวประมง..หรือจะสอนชาวประมงเสียก็เอา

จ้างบริษัทที่เคยนำลูกค้านักไต่หน้าผา ล่องแก่ง เดินป่า มาเดินทางสำรวจกับชุมชนใกล้ป่าเขาให้สามารถเกิดแหล่งท่องเที่ยวผจญภัยใหม่ๆ ที่ได้มาตรฐานสากล..และทำให้ฐานการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เกิดได้กว้างขวางกว่าที่เคยมี

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

จ้างพนักงานนวดสปาที่ว่างแล้ว ให้ไปบริการผู้สูงอายุ..ผู้ป่วยติดเตียงตามสถานพักฟื้น..สถานพยาบาล..สถานสงเคราะห์..หรือศูนย์ต่างๆที่มีทั่วไทย

หรือจะจ้างไปนวดบุคลากรทางสาธารณสุขที่แบกภารกิจเดิมพันที่สกัดกั้นคัดกรองการระบาดมาก่อนใครก็จะเป็นกำลังใจที่เข้าที

จ้างบริษัทรถบัสที่ว่างพอควรแล้ว ให้มาจัดแพคเกจสั้นๆ ที่พากลุ่มผู้ด้อยโอกาสในสังคมได้เที่ยวในพื้นที่ใกล้ๆ..โดยไม่จำเป็นต้องค้างคืนก็ได้

วิกฤตที่สร้างโอกาสให้ผู้ที่ขาดโอกาสมานาน..ก็มีเสน่ห์อย่างหนึ่ง

ชาติใดจะยิ่งใหญ่มิได้ดูกันที่ว่าชาตินั้นดูคนที่สำเร็จรุ่งเรืองได้ดีแค่ไหน

แต่อยู่ชาตินั้นดูแลคนที่ไม่ชนะในชีวิตได้ดีเพียงใดต่างหาก

…ในขณะที่เขียนข้อความนี้ อัตราการตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิด19 รายวันในจีน กำลังจะถูกอัตรานอกแผ่นดินจีนแซงแล้ว

ลูกเรือสายการบินก็เริ่มมีติดเชื้อแล้ว…

เราก็คงต้องเตรียมใจเตรียมเมืองกันนะครับ..ว่าถ้าวันหนึ่งต้องมีมาตรการที่รัฐหรือคณะกรรมการควบคุมโรคจะยกระดับเพิ่มอีก..จะปิดเขตปิดเมือง..จะพักใช้วีซ่าท่องเที่ยวกันชั่วครั้งชั่วคราว…

หรือจะหยุดการบินระหว่างประเทศระหว่างบางจุดชั่วคราว..ก็ยิ่งแปลว่าเราต้องพึ่งพากันเอง..พึ่งพาตนเองมากขึ้น

การคิดวิธีรับมอบงานไปทำที่บ้าน..ทำงานออนไลน์..ที่ควรจะมีแอพลิเคชั่นให้กิจการหรือหน่วยการศึกษาสามารถเอาไปใช้ได้สะดวก..ก็ควรเตรียมไว้

ถ้าเกิดการระบาดเข้าระยะสาม หรือพบผู้ติดเชื้อมากมายเกินกำลังสถานพยาบาลที่มี

ก็อาจต้องเริ่มมีการระดมประชุมสำรวจเล็งใช้สถานที่พักแรมพักอาศัยที่คงว่างโล่ง เพราะไม่มีนักเดินทางท่องเที่ยว ให้มีอัตราเช่าเหมาที่เหมาะสมสำหรับรองรับการกักตัว ผู้รอระยะเวลาแสดงอาการ 14วัน ที่อาจมีจำนวนมากจำนวนมากในแต่ละจังหวัด

รวมทั้งเตรียมคู่มือปฏิบัติหรือคู่มืออบรมถ่ายทอดสำหรับบุคลากร ที่จะต้องถูกระดมจ้างเข้ามาช่วยในภารกิจคราวนี้

ในเวลาวิกฤตอย่างนี้
ควรยึดหลักที่ว่า..วันที่ห้องรับแขกว่าง..ก็คือวันที่เหมาะแก่การเปลี่ยนม่านแปลี่ยนพรมห้องรับแขกที่สุด…

ลองเอารายการที่เราเคยบ่นกันมาในช่วงสิบปีที่มีนักท่องเที่ยวมาแน่นห้องรับแขกประเทศไทย..

ไม่ว่าจะปัญหาจากคอขวดด้านสาธารณูปโภค ทั้งทางบกทางน้ำ..จะที่สนามบินหรือท่าเทียบเรือ..จะเรื่องการซ่อมผิวรันเวย์จะเรื่องการจัดสอบทักษะยกระดับคนขับเรือ..นายท้าย..ช่างเครื่องเรือ..เด็กเรือ ..บีชการด์ป้องกันคนจมน้ำมีไม่พอหรือขาดทักษะก็จะได้จ้างฝึกจ้างซ่อมแซมแก้ไขกัน

หรือเอาเวลานี้มาคิดแก้คอขวดด้านระเบียบกฏกติกา…

กติกาบางอย่างไม่เคยมี ก็มาออกแบบซะ

กติกาบางอย่างใช้ไม่ได้แล้วก็ซ่อมซะ

กติกาบางเรื่องไม่เหลือสภาพบังคับ..ก็เลิกซะ

..ที่ผ่านมานับสิบกว่าปีไม่มีใครมีเวลาและสมาธิแก้ไขมันได้..เพราะมัวต้องรับแขก..ทั้งฝ่ายรัฐและเอกชน..เจอเสี่ยงบ่นร้องเรียนแต่ละวันก็หมดแรงแล้ว

ช่วงนี้จะขจัดมาเฟีย..จัดทะเบียนรวบรวมไฟล์ หมายหัวไกด์เถื่อนชาวต่างประเทศ..หมายตัวนอมินีทุนนอกในกิจการท่องเที่ยวที่เอารัดเอาเปรียบ.. นักหลอกลวงต้มตุ๋น..

ปักหมุดแล้วเดินไปเคาะประตูเตือนพวกเอาห้องในอพารท์เม้น คอนโด มาปล่อยแข่งกับโรงแรมที่จดทะเบียนซึ่งนับเป็นการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม..และไม่ปลอดภัยแก่เพื่อนร่วมอาคารเสียเลย

จะผ่าตัดปฏิรูปราชการกระทรวงการท่องเที่ยวให้สามารถรับใช้การเติบโตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและด้านกีฬากันยังไงก็ทำกันต่อ

เงินทองที่กรมการท่องเที่ยวเก็บมาถือไว้จากบริษัทนำเที่ยวตอนจดทะเบียนจัดตั้งไว้นับพันล้านบาท…แต่มีเหตุเบี้ยวลูกค้า และต้องนำเงินกองนั้นออกมาจ่ายแค่ปีละไม่ถึงสองล้านบาทนั้น..ก็ควรคืนหลักประกันนั้นให้บริษัทนำเที่ยวไปแล้วเหลือไว้แค่พอที่จะใช้ในแต่ละปีก็พอ

สถิติย้อนหลัง 10 ปี มันบอกอยู่ว่าจริงหรือไม่..และสมัยที่ผมเคยเป็นรัฐมนตรีท่องเที่ยวก็เคยมอบนโยบายไว้แล้วว่าควรพิจารณาคืนไปสร้างสภาพคล่องเสีย

เวลานี้วิกฤตมาถึงแล้ว

ใช้โอกาสนี้คืนให้ไปเถอะครับ..
เพราะกฏหมายไม่ให้ดอกเบี้ยของกองทุนนี้เป็นของรัฐด้วยซ้ำเพราะเป็นการให้รัฐเอามาถือเผื่อต้องใช้

และพิสูจน์มานับสิบปีแล้วว่าไม่ต้องใช้เป็นจำนวนเงินสูงถึงขนาดที่เก็บมา

จะแก้ไขกฏกระทรวงของกรมการท่องเที่ยวกับสำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวให้มีภารกิจที่ถูกฝาลงตัว..เข้ากับอัตรากำลังก็ทำซะ

จะทำการยกระดับอัพเกรดเจ้าหน้าที่ศูนย์ช่วยเหลือนักท่องเที่ยวให้มีช่องมีทางเติบโตมีความมั่นคงในงานที่สะสมทักษะมานานพอควรแล้ว ให้เป็นพนักงานราชการก็ทำให้สำเร็จเสียทีได้แล้ว

โอกาสที่น่าใช้อีกเรื่องคือ การติดตามให้มติครม. เมื่อพย.2551 เกิดผล

ครม.เคยมีมติเห็นชอบให้มี double entry Visa เพื่อจะได้นักเดินทางกลุ่ม MICE ที่จะเข้ามาจัดประชุมสัมมนาและแสดงสินค้านานาชาติในไทยได้บ่อยๆเมื่อหมดโควิด19

เห็นชอบให้นักท่องเที่ยวที่ได้ single entry Visa เพื่อให้นักท่องเที่ยวต่างชาติมีเหตุจะไปเมืองรองตามชายแดนแล้วออกไปเที่ยวพักสักคืนสองคืนในประเทศเพื่อนบ้าน แล้วย้อนกลับมาเดินทางต่อในไทยได้

เห็นชอบให้ผู้ถือหนังสือเดินทางจาก 38 ดินแดนที่บินเข้าไทยได้ปีละไม่จำกัดครั้ง สามารถมาไทย โดยผ่านด่านพรมแดนทางบกได้มากกว่า 2 หนต่อปี

แบบนี้เราจะได้กระจายโอกาสให้เมืองรองชายแดนและจังหวัดใกล้เคียงได้รับนักท่องเที่ยวที่มีจำนวนมากที่มามีถิ่นพำนักถาวรอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน

คนอาเซียน..คนอเมริกัน.. ยุโรป.. ญี่ปุ่น.. ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ที่ทำงานหรืออาศัยอยู่ในลาว กัมพูชาเมียนมาร์ มาเลเซีย หรือสิงคโปร์ที่อยากนั่งรถเข้ามาทางบกเพื่อร่วมกิจกรรมเทศกาลงานประเพณี

มาร่วมวิ่งว่ายปีนป่ายพายถีบ..มาเที่ยว..มาทำฟัน..มาช้อบปิ้ง..มาตรวจสุขภาพ..มาใช้จ่าย..มาเที่ยวในชุมชน..ก็สามารถมาได้ตลอดปี

เรายังควรทำให้มีวีซ่าสำหรับกองถ่ายทำภาพยนต์ ที่นอกจากจะเป็นวีซ่าแล้วยังใช้เป็นใบอนุญาตทำงานชั่วคราวของคนต่างด้าวไปได้ด้วย

แบบนี้เสน่ห์ไทยก็จะถูกทั้งถ่ายทำและถ่ายทอดออกไปสม่ำเสมอ..(ปีที่แล้วบินเข้ามากว่า 700กองถ่ายต่างประเทศ!)

โควิดมาแล้วโควิดก็จะผ่านไป

จะไปในสองเดือนหรือห้าเดือน นับจากนี้ก็เอาเถอะ..แต่รันเวย์ใหม่ที่กำลังต้องสร้าง..อาคารผู้โดยสารใหม่ที่กำลังจะเชื่อม…สนามบินต่างจังหวัดที่กำลังจะเสร็จเช่นที่เบตง..อาคารผู้โดยสารใหม่ที่สนามบินแม่สอด…และอีกหลายๆสนามบิน

รถไฟทางคู่จะมาถึงสารพัดอำเภอในสามสี่ปีแน่นอนทุกทิศทั่วไทย

รถไฟความเร็วสูงจะวิ่งในสามทิศทางทั้งดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา

สายกรุงเทพฯ-หัวหิน…สายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่

รถไฟจีนจะมาถึงเวียงจันทน์ในสองปีหน้า.และจะข้ามมาถึงหนองคายในเกือบจะต่อเนื่อง..และที่สุดจะผ่านขอนแก่น-โคราช-แหลมฉบัง

เราเอาเวลาที่จะว่างลงของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ขาดลูกค้าต่างประเทศ มาวางแผนเรื่องเหล่านี้ร่วมกับฝ่ายขนส่งเดินทางดีมั้ยครับ

ท่องเที่ยวไทยยังไงก็ยังเป็นที่นิยมของโลก..

นานๆจึงจะมีโอกาสที่ไม่ค่อยมีแขกมาแน่นอย่างนี้

ใช้วิกฤตนี้ให้เป็นโอกาสสร้างฐานเศรษฐกิจการท่องเที่ยวที่เน้นความยั่งยืนระยะยาวกันดีกว่าครับ

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์

สมาชิกวุฒิสภา

อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

อดีตประธานบอรด์การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

อดีตประธานสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ(องค์การมหาชน)

อดีตประธานองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน(องค์การมหาชน)

อดีตเลขาธิการสมาพันธ์สมาคมภาพยนต์แห่งชาติ

อดีตอธิการวิทยาลัยการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยรังสิต

อดีตผู้อำนวยการสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา(องค์การมหาชน)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image