กระทรวงแรงงาน ชี้สถานการณ์จ้างงานยังปกติ รัฐยันมีงานรออื้อ ภาคอุตฯ ยังขาดแรงงานอีกมาก

กกจ.ยันหลายอุตฯยังขาดคน

กรณีตัวเลขการว่างงานขยับขึ้นเกิน 1% บัณฑิตจบใหม่เสี่ยงตกงานสูงนั้น นายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า สถานการณ์ของการจ้างงานในขณะนี้ยังเป็นปกติ และยังไม่มีนัยยะสำคัญบ่งบอกถึงการว่างงานในระดับที่สูง ส่วนตัวเลขการว่างงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติร้อยละ 1.2 นั้น เป็นการว่างงานไม่ใช่ตัวเลขการว่างงานในภาคอุตสาหกรรม เพราะขณะนี้ในหลายอุตสาหกรรมก็ยังขาดแคลนแรงงานในระดับการผลิตจำนวนมาก ขณะนี้ไทยมีทั้งความต้องการแรงงานและการว่างงาน

สวนทางกัน เนื่องจากมีความไม่สอดคล้องระหว่างความต้องการและแรงงานที่มีอยู่ หากมองในการผลิตกำลังแรงงานของไทย จะพบว่ามีผู้จบใหม่ในระดับปริญญาตรีจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นสาขาทางสังคมศาสตร์ ทั้งที่ตลาดแรงงานมีความต้องการผู้จบปริญญาตรีในสาขาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสูงกว่า อีกทั้งตลาดแรงงานยังมีความต้องการแรงงานในระดับอาชีวะ ระดับไร้ฝีมือและกึ่งฝีมือจำนวนมาก เนื่องจากประเทศไทยมีภาคการผลิตต้องการแรงงานเข้มข้น การผลิตของไทยยังไม่เปลี่ยนโครงสร้างการผลิตเป็นใช้เครื่องจักรทั้งหมด

“ต้องมองว่าไทยจะทำอย่างไรให้เยาวชนหันมาเลือกเรียนต่อในสาขาจบออกมาตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน จูงใจให้หันมาเรียนอาชีวะมากกว่ามุ่งศึกษาในระดับปริญญาตรี สำหรับตำแหน่งงานว่างในปัจจุบันนั้น จากระบบของ กกจ. มีตำแหน่งงานว่างรองรับทั่วประเทศ ประมาณ 40,000 อัตรา” นายอารักษ์กล่าวและว่า กกจ.อยู่ระหว่างจัดทำแผนยุทธศาสตร์แก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน เพราะมองว่าในอนาคตไทยจะประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานมากกว่าว่างงาน เนื่องจากไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ วัยแรงงานมีจำนวนลดลง

สศช.ยันจับตาตัวเลขว่างงาน

แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า ปัญหาการว่างงานกำลังมีกระแสข่าวในขณะนี้เป็นหนึ่งในเรื่องที่ สศช.จับตามอง ในส่วนภาวะสังคมด้านการจ้าง 5 เดือนแรกของปีนี้ หรือระหว่างเดือนมกราคม-พฤษภาคมที่ผ่านมา พบว่ามีอัตราการว่างงานเฉลี่ยอยู่ที่ 385,682 คน จากกำลังแรงงานทั้งหมด 38.5 ล้านคน หรือคิดเป็น 1.07% เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ระดับ 0.93% อัตราการว่างงานของ

Advertisement

ผู้เคยมีงานทำมาก่อน ขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นถึง 19% และมีทิศทางเพิ่มสูงขึ้นกว่าอัตราการว่างงานของนักศึกษาจบใหม่ สะท้อนให้เห็นถึงสภาพเศรษฐกิจภายในประเทศยังชะลอตัว และการลดกำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรม จึงต้องมีลดชั่วโมงการทำงาน และการปลดแรงงานเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามภาคการท่องเที่ยว ภาคก่อสร้างยังมีทิศทางการจ้างงานเพิ่มขึ้นจากจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มสูงขึ้น และมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาลได้ผล จากตัวเลขการส่งออกอาจปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง อาจช่วยผลักดันให้การจ้างงานภาคการผลิตกลับมาสูงขึ้นได้ตามกำลังซื้อของตลาดที่สูงขึ้นตาม สศช.จะประกาศภาวะสังคมด้านการจ้าง ในไตรมาสที่ 2 อย่างเป็นทางการในวันที่ 22 สิงหาคมนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image