อินฟราฟัน : เร่งเคลียร์พื้นที่ไฮสปีดอีอีซี

เซ็นสัญญาระหว่าง การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และ บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสนามบิน จำกัด ของ กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร หรือ กลุ่มซีพี เพื่อเดินหน้ารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กิโลเมตร ไปตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม 2562

ตอนนี้หลายคนจึงอยากรู้ความคืบหน้าว่าไปถึงไหนแล้ว

เมื่อสอบถามข้อมูลก็ทราบว่า กระทรวงคมนาคมได้เร่งรัดให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรีบรื้อย้ายสาธารณูปโภคตามแนวเส้นทางที่จะใช้ในการก่อสร้าง เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด ทั้งระบบไฟฟ้า ประปา ท่อระบายน้ำของกรุงเทพมหานคร (กทม.) และสายไฟแรงสูงของค่ายลูกเสือในจังหวัดชลบุรี ซึ่งทั้งหมดนี้จะต้องใช้งบประมาณเพิ่มเติมอีกประมาณ 4,000 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างทดแทน

และยังสั่งการให้กลุ่มซีพี เข้าล้อมรั้วพื้นที่ที่ รฟท.สามารถย้ายผู้บุกรุกออกไปได้แล้ว เพื่อป้องกันไม่ให้เข้าไปบุกรุกอีก

Advertisement

ส่วนพื้นที่ก่อนหน้านี้ที่มีปัญหาการรื้อย้ายท่อน้ำมันของบริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ จำกัด หรือเอฟพีที ขณะนี้ได้ข้อสรุปว่าจะมีการรื้อย้ายท่อน้ำมันจากฝั่งตะวันตกไปตะวันออก โดยบริษัทจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายการรื้อย้าย และต้องจัดทำผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) เพิ่มเติมด้วย

อย่างไรก็ตาม ทางกลุ่มซีพีก็ได้ขอขยายพื้นที่ก่อสร้าง 3 จุด จากรัศมีการเวนคืนที่ รฟท.กำหนด เดิม 25 เมตร เพิ่มเป็น 40 เมตร ซึ่งจะส่งผลให้ รฟท.ต้องไปเวนคืนพื้นที่เพิ่ม ประกอบไปด้วย บริเวณงานก่อสร้างช่วงแม่น้ำบางปะกง บริเวณอุโมงค์เขาชีจรรย์ และบริเวณทางลอดใต้ถนนเข้าพื้นที่สนามบินอู่ตะเภา โดยกลุ่มซีพีให้เหตุผลบางส่วนต้องใช้วางเครื่องจักร ซึ่งทางกระทรวงคมนาคมจะมีการพิจารณาอีกครั้ง

สำหรับการส่งมอบพื้นที่ที่ รฟท.กำหนดไว้ ส่วนแรกที่มีความพร้อมส่งมอบก่อน คือ ช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา คาดว่าจะส่งมอบครบทั้งหมดภายใน 1 ปี

Advertisement

ปัจจุบันได้เคลียร์ระบบสาธารณูปโภคเรียบร้อยแล้ว ดังนั้น ทางกระทรวงคมนาคมจึงมั่นใจว่าพื้นที่ช่วงนี้จะเป็นส่วนแรกที่กลุ่มซีพีสามารถเริ่มงานก่อสร้างได้

จะเดินหน้าได้ตามแผนงานที่กำหนดหรือไม่ ยังต้องตามติดใกล้ชิด!!

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image