เลขาฯ ส.ป.ก. เติมพลัง “ม.44” ลุยยึดที่ดินคืน

ปัญหาการจัดสรรที่ดินของสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือ ส.ป.ก. นับเป็นปัญหาที่ยืดเยื้อคาราคาซังมาตั้งแต่ปี 2536 ที่กรมป่าไม้ สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ในขณะนั้น) ได้ทำการโอนที่ดินป่าเสื่อมโทรมมาจัดสรรให้เกษตรกรที่ไร้ที่ดินทำกินในรูปแบบที่ดิน ส.ป.ก. จำนวน 40 ล้านไร่ ซึ่งตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ส.ป.ก.ก็ยังไม่สามารถจัดสรรที่ดินให้แล้วเสร็จ โดยสามารถจัดสรรที่ดินได้เพียง 36 ล้านไร่เท่านั้น เหลือพื้นที่กว่า 4 ล้านไร่ที่ยังคงติดปัญหา ไม่ว่าจะเป็นผู้ครองที่ดินไม่ยอมทำการรังวัด มีการปกปิดตัวตนผู้ถือครอง ผู้ถือครองที่ดินรายใหญ่เป็นผู้มีอิทธิพล เป็นนักการเมืองในพื้นที่ ทำให้เจ้าหน้าที่ ส.ป.ก.จังหวัด เกิดความเกรงกลัวอิทธิพลไม่กล้าเข้าไปพิสูจน์ที่ดิน ตลอดจนกระบวนการเพิกถอนที่ดินต้องใช้เวลาฟ้องร้องในศาลไม่ต่ำกว่า 7-10 ปี รวมทั้งเมื่อได้รับการเพิกถอนที่ดินก็จะใช้อิทธิพลข่มขู่เจ้าหน้าที่ การจัดตั้งม็อบเข้ายึดที่ดินคืน จึงทำให้การปฏิรูปที่ดินไม่สามารถทำได้

กระทั่งเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคมที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตัดสินใจประกาศใช้มาตรา (ม.) 44 ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เพื่อแก้ไขปัญหาการครอบครองที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมโดยมิชอบ ตามที่กระทรวงเกษตรฯได้เสนอ

มีเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาที่ดิน ส.ป.ก.ใน 3 ประเภท คือ 1.พื้นที่ที่ยังไม่เข้าสู่การปฏิรูปที่ดิน จำนวน 500 ไร่ขึ้นไป ใน 25 จังหวัด จำนวน 426,300 ไร่ 2.พื้นที่จัดสรรเกษตรกร แต่นำไปขายต่อ เนื้อที่ตั้งแต่ 100 ไร่ขึ้นไป ใน 2 จังหวัด คือพระนครศรีอยุธยาและนครราชสีมา จำนวน 488 ไร่ และ 3.พื้นที่ที่มีคำสั่งพิพากษาถึงที่สุดให้ขับไล่ เนื้อที่ 500 ไร่ขึ้นไป 3 จังหวัด คือกระบี่ สุราษฎร์ธานี และนครราชสีมา จำนวน 5,906 ไร่

เกี่ยวกับปัญหาเรื่องนี้ “มติชน” มีโอกาสได้สัมภาษณ์นายสรรเสริญ อัจจุตมานัส เลขาธิการ ส.ป.ก. จึงขอให้ขยายความ ไขข้อข้องใจทั้งหลาย

Advertisement

นายสรรเสริญกล่าวว่า การใช้ ม.44 ในช่วงนี้ถือเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก เพราะช่วงนี้เป็นช่วงที่ปลอดจากนักการเมืองและปัญหาเรื่องผลประโยชน์ ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ปล่อยปละละเลย ไม่ยอมแก้ไขปัญหา ส.ป.ก. ทำให้ในช่วงที่ผ่านมาไม่สามารถนำที่ดินเข้ามาอยู่ในส่วนการปฏิรูปได้

การใช้ ม.44 ครั้งนี้มีจุดมุ่งหมาย 2 อย่าง คือ 1.การประกาศเพื่อให้ผู้ครอบครองที่ดินนำเอกสารสิทธิมาแสดง หลังจากที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ไม่สามารถเข้าไปพิสูจน์ได้ หรือที่ดินบางแปลงมีการปกปิดตัวตนผู้ถือครอง ซึ่งเมื่อพิสูจน์สิทธิแล้วก็จะได้รู้ว่าที่ดินแต่ละแปลงถือครองโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หากพิสูจน์ได้ว่าเป็นที่ดินที่ถือครองโดยมิชอบ เจ้าหน้าที่ถึงมีสิทธิที่จะเข้าไปยึด ไม่ใช่ยึดโดยทันทีแบบที่ไม่ต้องอาศัยหลักฐาน ดังนั้นจึงเท่ากับว่า การใช้ ม.44 ครั้งนี้ไม่ใช่ยาแรง แต่เป็นไปเพื่อให้กระบวนการตรวจสอบที่ดินเดินหน้าไปได้

และ 2. เจ้าหน้าที่ ส.ป.ก.ในพื้นที่ สามารถร้องขอความช่วยเหลือจากฝ่ายกองกำลังทหาร ฝ่ายปกครอง เข้ามาร่วมปฏิบัติภารกิจในการยึดคืนพื้นที่ได้ หลังจากที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ ส.ป.ก.มีจำนวนน้อยจึงไม่กล้าที่จะทำอะไร เพราะเกรงกลัวผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ ซึ่งในส่วนนี้จะช่วยปิดช่องว่างของปัญหาการเข้าไปติดประกาศ และยึดพื้นที่คืนเพื่อเข้าสู่กระบวนการปฏิรูปที่ดินได้

Advertisement

กระบวนการหลังจากนี้ เจ้าหน้าที่จะต้องเร่งทำแผนที่แนบท้าย และลงพื้นที่ไปปิดประกาศให้แล้วเสร็จใน 10 วัน เมื่อปิดประกาศแล้ว ภายในเวลา 15 วัน จะเปิดโอกาสให้เจ้าของที่ดินคัดค้าน โดยการนำเอกสารมายืนยันตามสิทธิที่มีภายใน 30 วัน หลังจากนั้น ส.ป.ก.จะดำเนินการตรวจสอบเอกสาร และตรวจสอบคำร้องของ ส.ป.ก.จังหวัด ซึ่งตลอดขบวนการอาจกินเวลาประมาณ 62 วัน หลังจากนั้นอีก 7 วัน รวมระยะเวลา 69 วัน หลังประกาศใช้ ม.44 ส.ป.ก.จะขอกำลังเจ้าหน้าที่ กองทัพ ตำรวจทหารลงพื้นที่เพื่อรื้อถอน เข้ายึดและครอบครองพื้นที่เป้าหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูปที่ดิน ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน รวมระยะเวลาทั้งหมด 129 วัน หรือประมาณปลายปีนี้จะแล้วเสร็จ

หลังจากนั้น ส.ป.ก.จะนำที่ดินที่ยึดคืนมาได้ ซึ่งคาดการณ์ไว้ที่ 1 แสนไร่ มาเข้าสู่กระบวนการปฏิรูปที่ดินก่อน โดยการนำที่ดินมาปรับสภาพพื้นที่ การแบ่งแปลงที่ดิน และการตัดถนนหลักและถนนรองเข้าไปในที่ดิน การปรับคุณภาพดินให้เหมาะสมกับการทำการเกษตร และต้องสอดคล้องกับแผนที่การทำเกษตรกรรมของกระทรวงเกษตรฯ (อกรี-แมพ) ซึ่งคาดว่าจะใช้งบประมาณในการปฏิรูปที่ดินไม่ต่ำกว่า 1-1.5 หมื่นบาท/ไร่ รวมงบประมาณทั้งหมดประมาณ 1-1.5 พันล้านบาท เบื้องต้น พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ แจ้งว่า พร้อมที่จะให้รัฐบาลเข้ามาสนับสนุนงบประมาณในส่วนนี้

อย่างไรก็ตาม ด้วยจำนวนบุคลากรของ ส.ป.ก.ที่มีจำกัด จึงประเมินว่า ส.ป.ก.จะสามารถทำการปฏิรูปที่ดินได้เพียงปีละประมาณ 2-3 หมื่นไร่เท่านั้น จึงมีแนวคิดจะขอกำลังจากทหารช่างเข้ามาช่วย เพื่อให้การปฏิรูปที่ดินเสร็จสิ้นได้ภายใน 1 ปี เพราะไม่เช่นนั้น หากปล่อยที่ดิน ส.ป.ก.ที่ยึดกลับมาได้ทิ้งร้างไว้นานเกินไป อาจมีการบุกรุกที่ดินเพื่อเข้าทำประโยชน์และเกิดปัญหาที่ต้องไปทวงคืนตามมาอีก

หากกระบวนการทวงคืนที่ดิน ส.ป.ก.ในครั้งนี้ประสบความสำเร็จ และได้รับการตอบรับจากประชาชนเป็นอย่างดี ส.ป.ก.ก็มีแนวคิดที่จะผลักดันให้ประกาศใช้ ม.44 อีกครั้ง กับพื้นที่ที่ยังไม่เข้าสู่การปฏิรูปที่ดิน จำนวน 250 ไร่ขึ้นไป เพื่อให้การปฏิรูปที่ดินเกิดประโยชน์กับประชาชนและเกษตรกรมากที่สุด

“ผมเหลือเวลาในอายุราชการอีกไม่กี่เดือน ก็ตั้งใจไว้ว่าจะทำหน้าที่ครั้งนี้ให้ดีที่สุด ไม่กลัวทั้งผู้มีอิทธิพล นักการเมือง และการฟ้องร้องกลับ รวมทั้งหวังว่า การปฏิรูปที่ดิน ส.ป.ก.ครั้งนี้จะประสบความสำเร็จไปด้วยดี และอยากฝากงานให้เลขาธิการ ส.ป.ก.คนใหม่ เดินหน้างานครั้งนี้ต่อ เพราะคงไม่มียุคไหนจะมีโอกาสทำการปฏิรูปที่ดิน ส.ป.ก.ได้สำเร็จเท่ากับยุคนี้อีกแล้ว” นายสรรเสริญกล่าวทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image