‘กยท.’ หวังขยายเป้าใช้ยางในประเทศปี’63 แตะ 1 ล้านตัน 

น ายประพันธ์ บุณยเกียรติ ประธานคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หลังจากไวรัสโควิด-19 ระบาดในมาเลเซียและประกาศปิดประเทศ ส่งผลต่อการส่งออกยางพารา ที่การขนส่งใช้ทางบกผ่านมาเลเซีย เพื่อไปลงที่ท่าเรือปีนัง ทำให้การส่งออกของไทยหยุดชะงัก แต่เนื่องจากมาเลเซียเป็นผู้ผลิตถุงมือยางมากที่สุดในโลก การปิดประเทศทำให้วัตถุดิบน้ำยางข้นขาดแคลน เพราะทั้งหมดต้องนำเข้าจากไทยเป็นหลัก ปัจจุบันมาเลเซียได้ยอมเปิดด่านนำเข้าให้กับไทยแล้ว จึงเป็นโอกาสที่ไทยจะเร่งการส่งออกให้มากขึ้น การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จึง หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเร่งดำเนินการดังกล่าว

“ความต้องการน้ำยางข้นที่มากขึ้น ฟังดูเหมือนไทยมีอำนาจต่อรองด้านราคา แต่ในภาพรวมต้องดูราคาในตลาดประกอบด้วย แต่ถ้าทุกภาคส่วนช่วยกันคิดว่าที่สุดแล้ว ไทยจะกำหนดราคายางได้“ นายประพันธ์ กล่าว

นายขจรจักษณ์ นวลพรหมสกุล รักษาการผู้ว่าการ กยท. กล่าวว่า โอกาสการส่งออกน้ำยางถือเป็นโอกาสในวิกฤติ แต่เพื่อให้ราคายางมีเสถียรภาพอย่างยั่งยืน รัฐบาลพยายามเพิ่มปริมาณการใช้ในประเทศให้มากขึ้น จากเดิมที่มีการใช้อยู่ 6 แสนตัน เพิ่มเป็น 8 แสนตัน ถือว่าประสบผลสำเร็จ แต่เป้าหมายในปี 2563 อยากให้เพิ่มการใช้ในประเทศเป็น 1 ล้านตัน ซึ่งมีแนวโน้มเป็นไปได้ รวมทั้งจะเพิ่มขึ้นในปีต่อไป วิธีการนี้จะเป็นทางเดียวที่ไทยจะสามารถคุมราคายางในประเทศได้

นายวรเทพ วงศาสุทธิคุณ อุปนายกสมาคมยางพาราแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัญหาโควิดส่งผลต่ออุตสาหกรรมยางทั้งบวกและลบ โดยผลกระทบทางลบนั้น มีกับกลุ่มผู้ผลิตยางแผ่นและยางแท่ง ที่นำไปใช้ผลิตยางล้อ เมื่อโควิดทำให้ธุรกิจการขนส่งหยุดชะงัก และโรงงานผลิตรถยนต์ปิด ความต้องการใช้ก็ลดลง เรื่องนี้ต้องติดตาม สถานการณ์อย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าหลังจากนี้ทั่วโลกจะมีแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่งออกมาแน่

Advertisement

ขณะที่ ผู้ที่ได้รับอนิสงค์จากปัญหาโควิด-19 จะเป็นกลุ่มผู้ส่งออกน้ำยางข้น ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลินถุงมือยาง แม้ว่าปัจจุบันจะสามารถใช้ยางสังเคราะห์ได้ แต่ยางธรรมชาติยังมีความจำเป็น โดยเฉพาะอย่างมาเลเซีย ที่พึ่งพาวัตถุดิบน้ำยางข้นจากไทยเพื่อผลิตถุงมือยางส่งออกในกลุ่มเวชภัณฑ์รายใหญ่ของโลก ซึ่งเรื่องดังกล่าว อยากให้รัฐบาล กำหนดเป็นวาระแห่งชาติ เข้ามาสนับสนุนภาคเอกชนไทย อย่างจริงจัง เพื่อให้ผลิตถุงมือยางที่สามารถแข่ขันกับมาเลเซียให้ได้ เพราะไทยมีวัตถุดิบพร้อมอยู่แล้ว

นอกจากนี้ อยากให้กำหนดมาตรการส่งเสริมการใช้ถุงมือจากยางธรรมชาติมากขึ้น เพราะย่อยสลายได้ง่าย จากเดิมการผลิตถุงมือยางธรรมชาติมีสัดส่วนถึง 80% ถุงมือจากยางสังเคราะห์ 20% ปัจจุบันการผลิตถุงมือยางมีสัดส่วนเพียง 35% เท่านั้น แม้ว่าแนวโน้มความต้องการจะมากขึ้นแต่อัตรายังน้อยกว่าเมื่อเทียบกับการใช้ถุงมือจากยางสังเคราะห์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image