คิดเห็นแชร์ : ฉากจบสี่แบบของโคโรนาไวรัส กับผลกระทบในตลาดการเงิน

หลังจากที่ผมได้เขียนบทความเรื่อง โคโรนาไวรัสอวสานโลก (การเงิน) ไปเมื่อเดือนก่อน ก็เป็นไปตามคาดว่าเดือนนี้ เราได้พบกับอวสานของนโยบายการเงิน เมื่อสินทรัพย์แทบจะไม่ตอบรับกับท่าทีล่าสุดของธนาคารกลางทั่วโลก ขณะเดียวกันตลาดกระทิงหลังวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ปี 2008 ก็สิ้นสุดไปด้วยการปรับลงของดัชนี S&P500 ถึงกว่า 30% ในเดือนที่ผ่านมา

สิ่งที่เรายังเฝ้ารออยู่เหลือเพียง “อวสานของไวรัสโควิด-19”

แต่คำถามของนักลงทุนตอนนี้ ดูจะไม่ใช่แค่เมื่อไหร่ที่เราจะไปถึงจุดนั้น แต่ต้องรู้ด้วยว่าเราจะไปถึงอวสานของไวรัสโควิด-19 แบบไหน

เพราะทั้งรัฐและธนาคารกลางใช้นโยบายที่หลากหลาย มีทั้งฉุดเศรษฐกิจเพื่อหยุดการระบาด และหนุนเศรษฐกิจให้ไม่ถดถอย แม้จะจบปัญหาไวรัส จึงอาจไม่ได้เห็นเศรษฐกิจกลับมาเป็นเหมือนเดิม 100%

Advertisement

ผมลองจินตนาการตอนอวสานของไวรัสโควิด-19 กับตลาดการเงิน และมองหาสินทรัพย์หลักที่ควรซื้อเข้าพอร์ตในตอนจบแบบต่างๆ ไว้ให้เราเริ่มคิด เพื่อจะไม่ต้องสงสัย หรือคิดซ้ำเมื่อเวลานั้นมาถึง

แบบแรก ฉากอวสานที่ดีที่สุดคือปัญหาโควิด-19 เป็นแค่เรื่องชั่วคราว รัฐบาลพิมพ์เงินออกมาหนุนเศรษฐกิจจนฟื้นตัวได้ภายในครึ่งหลังของปี 2020

กรณีนี้ หมายถึงเราจะเห็นเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวเป็นรูปตัว V ด้วยสภาพคล่องที่มหาศาล ยีลด์ทั่วโลกจะถูกกดให้อยู่ในระดับต่ำทั้งในระยะสั้นและยาว ตัวแปรหลักที่ทำให้คนหยุดกลัว ต้องเป็น “กฎเกณฑ์” ทั้งทางการเงิน

เช่น การกู้ยืมต้องง่าย และการคลัง เช่น ภาษีต้องต่ำจนทำให้รู้สึกว่าสามารถกลับมาหาเงินได้

ภาพตลาดจะคล้ายช่วงหลังวิกฤติปี 2001 ซึ่งในตอนจบแบบนี้ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีโอกาสฟื้นตัวมากที่สุด ตลาดทุนทั่วโลกจะได้รับแรงหนุน ดังนั้นหุ้นมูลค่า (Value) จึงเป็นสินทรัพย์ที่เราต้องซื้อมากที่สุดในพอร์ต

แต่ถ้าไม่เชื่อว่าโลกจะสวยได้ขนานนั้น ฉากจบอาจเป็น แบบที่สอง คือ รัฐใช้นโยบายการคลังเต็มที่ แต่ก็ไม่สามารถดึงเศรษฐกิจกลับขึ้นมาได้ทัน

หมายความว่าเราจะพบการถดถอยของเศรษฐกิจตั้งแต่ไตรมาสสองปี 2020 นี้เลย โดยฉากอวสานนี้ แม้ “สภาพคล่องสูงพอ” ที่จะหยุดภาวะวิกฤตลงได้ แต่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์อาจไม่ฟื้นตัวเพราะพฤติกรรมทางเศรษฐกิจเปลี่ยนไปถาวร

กรณีแบบนี้จะส่งผลให้เงินเฟ้อและการขยายตัวของเศรษฐกิจในช่วงหลังวิกฤตทรงตัว กดให้บอนด์ยีลด์อยู่ในระดับต่ำ ตลาดจะกลับมาคล้ายช่วงหลังวิกฤตปี 2009 นักลงทุนที่หวังรายได้ ต้องพยายามวิ่งหาสินทรัพย์ทางเลือกอื่น ส่วนนักลงทุนที่กล้าเสี่ยงก็ต้องเลือกหุ้น Growth ที่แนวโน้มการเติบโตไม่อ้างอิงกับภาวะเศรษฐกิจ

แบบที่สาม คือ เศรษฐกิจหยุดนิ่งนานเกินไปจนผลของนโยบายทำได้แค่เยียวยา และภาวะการหดตัวของเศรษฐกิจลากยาว

กรณีนี้จะเกิดจากความกลัวโควิด-19 ถูกกลบด้วย “ความกลัวเศรษฐกิจถดถอย”

ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ระยะยาวปรับตัวสูงขึ้นจากความเสี่ยงเครดิต ผู้ประกอบการจะต้องลดการกู้ยืมลงตามเศรษฐกิจที่ชะลอตัว

อย่างไรก็ดี เมื่อสถานการณ์ทุกอย่างเข้าสู่ภาวะปกติ นักลงทุนก็จะกลับเข้ามาในตลาดทันทีที่ “ผลตอบแทนคุ้มค่าความเสี่ยง” ซึ่งก็หมายความว่าบอนด์ High Yield ควรเป็นสินทรัพย์ที่นักลงทุนควรยอมกลับมาเปิดใจให้เป็นอย่างแรกหลังจากเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว

แบบสุดท้ายและน่ากลัวที่สุด คือ ความเชื่อมั่นไม่ฟื้นและตลาดกังวลไปถึงเสถียรภาพทางการคลังของภาครัฐทั่วโลก

คงไม่มีใครอยากให้ตลาดการเงินมาถึงฉากจบเช่นนี้ โอกาสเกิดขึ้นมีไม่มาก แต่ก็ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด

เพราะไม่ไช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ในสภาวะที่นโยบายการเงินผ่อนคลายถึงขีดสุดและนโยบายการคลังก็แทบไม่มีทางกลับมาที่จุดเดิมได้

ถ้าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น การกู้ยืมจะลดลงเองจากการผิดนัดชำระหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัว

ยีลด์ระยะยาวจะปรับตัวสูงขึ้นทั้งในพันธบัตรและตราสารหนี้ ซ้ำร้ายเมื่อนักลงทุนขาดความเชื่อมั่นในภาครัฐ แทนที่จะกลับเข้ามาในสินทรัพย์การเงินปกติหลังวิกฤต ก็จะพยายามหาสิ่งที่ตนเองเชื่อว่าปลอดภัยกว่าเงินสด เช่น สกุลเงินตราต่างประเทศ ทองคำ หรือในอนาคตอาจเป็นเงินดิจิทัลเข้ามาในพอร์ต

หรือสรุปสั้นๆ ได้ว่า การจะถือสินทรัพย์ไหน เมื่อปัญหาวิกฤตโควิด-19 นี้จบสิ้นลงแล้ว

ก็ต้องอยู่ที่มุมมองของตลาดว่าเศรษฐกิจในอนาคตจะฟื้นตัวขึ้นทันที หรือจะซึมต่อเนื่อง และความเชื่อมั่นของภาครัฐในแต่ละประเทศจะต่างไปอย่างไรหลังจากเหตุการณ์นี้นั่นเอง

และจากนี้ไปจนถึงตอนอวสานของโควิด-19 ทางที่ดีที่สุด ก็คือการจับตาดูทิศทางของสินทรัพย์หลักไม่ว่าจะเป็น หุ้นสหรัฐ บอนด์ยีลด์ ราคาทองคำ หรือเงินดอลลาร์ให้ดี เพราะสินทรัพย์เหล่านี้จะค่อยๆ ส่งสัญญาณว่าตลาดกำลังเชื่อในตอนจบแบบไหนในสี่แบบข้างต้น

และผมเชื่อว่าถ้าเรามีสติ รู้ตัว และรู้ว่าสินทรัพย์ไหนกำลังบอกอะไรเราอยู่ ก็ถือว่าเราพร้อมรับกับสถานการณ์ทุกรูปแบบที่จะเกิดขึ้นแล้ว

และเมื่อเวลานั้นมาถึงก็อย่าลืมปรับพอร์ตกันให้ทันนะครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image