กรมบัญชีกลาง ประกาศให้ทุกจังหวัดเพิ่มทดลองเบิกจ่ายสู้โควิด-19 อีกจังหวัดละ 50 ล้าน
เมื่อวันที่ 31 มีนาคม นายภูมิศักดิ์ อรัญญาเกษมสุข อธิบดีกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ตามที่เกิดสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) แพร่ระบาด ส่งผลกระทบต่อชีวิต ร่างกายของประชาชนเป็นอย่างมาก และแนวโน้มของสถานการณ์อาจส่งผลกระทบต่อวงเงินทดรองราชการในเชิงป้องกันหรือยับยั้งภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินที่มีอยู่ อาจไม่เพียงพอต่อการป้องกันหรือยับยั้งภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินให้แก่ประชาชนได้ เนื่องจากระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 ไม่ได้กำหนดให้สามารถขยายวงเงินทดรองราชการดังกล่าวได้ ดังนั้น เพื่อให้สามารถใช้จ่ายเงินงบประมาณในการป้องกันหรือยับยั้งภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นแก่ประชาชนจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อย่างรวดเร็ว ทั่วถึง และสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง จึงอนุมัติให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและจังหวัดปฏิบัตินอกเหนือระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงิน ทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 ข้อ 18 กรณีขยายวงเงินทดรองราชการในเชิงป้องกันหรือยับยั้งภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน จำนวน 50 ล้านบาท ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและพื้นที่จังหวัด ทั้ง 76 จังหวัด เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการป้องกันหรือยับยั้งภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินเฉพาะสถานการณ์ในครั้งนี้ได้ เป็นกรณีพิเศษ
ทั้งนี้การอนุมัติให้ขยายวงเงินทดรองราชการดังกล่าว เพื่อให้การใช้จ่ายเงินงบประมาณในช่วงที่ประเทศเกิดวิกฤติจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ ทั้งนี้ ได้กำหนดให้ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเฝ้าระวังและควบคุมติดตามการระบาดของโรค ประเมินสถานการณ์ ระดับความรุนแรงของภัยพิบัติ วิเคราะห์สถานการณ์ ความเป็นไปได้และพฤติการณ์ปัจจัยบ่งชี้ต่าง ๆ ว่ามีความจำเป็นต้องป้องกันหรือยับยั้งภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน รวมทั้งเสนอมาตรการและแนวทางในการป้องกันหรือยับยั้งภัยพิบัติดังกล่าวต่ออธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเพื่ออนุมัติจ่ายเงินทดรองราชการ
สำหรับพื้นที่จังหวัด ทั้ง 76 จังหวัด ให้คณะกรรมการป้องกันหรือยังยั้งภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินจังหวัดดำเนินการประเมินสถานการณ์ ระดับความรุนแรง วิเคราะห์สถานการณ์ความเป็นไปได้ พฤติการณ์ ปัจจัยบ่งชี้ต่าง ๆ ว่ามีความจำเป็นต้องป้องกันหรือยับยั้งภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินร่วมกับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดรวมทั้งเสนอมาตรการและแนวทางในการป้องกันหรือยับยั้งภัยพิบัติดังกล่าวต่อผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่ออนุมัติจ่ายเงินทดรองราชการต่อไป