อธิบดีกรมปศุสัตว์หารือแนวคุม’กาฬโรคแอฟริกาในม้า’แนะสังเกตอาการ-งดเคลื่อนย้าย

เมื่อวันที่ 31 มีนาคม นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานการประชุมบูรณาการหน่วยงานเครือข่ายหารือแนวทางการควบคุมโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า (African Horse Sickness: AHS) ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์เพื่อสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังโรคในม้า พร้อมด้วยน.สพ.ชัยวัฒน์ โยธคล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ผู้แทนจากองค์การสวนสัตว์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช สมาคมกีฬาขี่ม้าแห่งประเทศไทย สมาคมม้าแห่งประเทศไทย นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ อาจารย์จากมหาวิทยาลัย ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร หน่วยงานของกรมปศุสัตว์ ได้แก่ สำนักกฎหมาย สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ กองสวัสดิภาพสัตว์และสัตวแพทย์บริการ สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ และหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม ที่กรมปศุสัตว์

นายสัตวแพทย์สรวิศกล่าวว่า เกิดการแพร่ระบาดของโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้าเป็นโรคติดเชื้อในตระกูล ม้า ลา ล่อ ม้าลาย ตามข่าวที่เกิดขึ้นนั้น ได้เกิดการแพร่ระบาดของโรคฯ ดังกล่าว ที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา สาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัสอาร์เอ็นเอ ชนิดไม่มีเปลือกหุ้มชื่อ Reoviridae genus Orbivirus โดยทำให้ม้า ลา ล่อ ม้าลาย มักแสดงอาการมีไข้สูง มีอาการเกี่ยวกับระบบทางหายใจ แล้วตายโดยฉับพลัน ซึ่งจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ เป็นแบบที่เฉียบพลันรุนแรง

กรมปศุสัตว์จึงได้จัดประชุมเพื่อหารือแนวทางและกำหนดมาตรการในการควบคุมโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า สาระสำคัญ ดังนี้
1. มาตรการในการควบคุมโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้าในประเทศไทย

2. ขอความร่วมมือในการเฝ้าระวังและควบคุมโรคจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่
2.1 ข้อมูลประชากรม้าและสถานที่เลี้ยงม้าของแต่ละหน่วยงาน
2.2 ข้อมูลการนำเข้า-ส่งออก ม้า ลา ล่อ ม้าลาย อูฐ
2.3 การเฝ้าระวังโรคในสถานที่เลี้ยงของแต่หน่วยงาน
2.4 ข้อเสนอแนะ/ความคิดเห็นเกี่ยวกับมาตรการในการควบคุมโรคจากผู้เข้าร่วมประชุม

Advertisement

หากพบสัตว์ป่วยตายผิดปกติขอให้ดำเนินการ ดังนี้
1. ทำบันทึกสั่งกักสัตว์ทั้งฟาร์ม/ฝูง โดยรีบประสานด่านกักสัตว์ควบคุมการเคลื่อนย้ายทันที
2. เก็บตัวอย่างเลือดส่งสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ
3. ให้คำแนะนำเจ้าของสัตว์ในการจัดการม้าป่วย ม้าร่วมฝูง งดการเคลื่อนย้ายม้า
4. รายงานการเกิดโรคผ่านระบบ e-smart surveillance
5. ประกาศเขตเฝ้าระวังโรคระบาดชั่วคราวชนิดกาฬโรคแอฟริกาในม้า ชนิดสัตว์ม้า ลา ล่อ อูฐ

อธิบดีกรมปศุสัตว์เน้นย้ำให้เจ้าของหมั่นสังเกตอาการม้าที่เลี้ยงอย่างใกล้ชิด ควบคุมการเคลื่อนย้าย หากพบม้าที่แสดงอาการผิดปกติให้รีบแจ้งสัตวแพทย์ ที่ปรึกษาฟาร์ม และแจ้งสำนักงานปศุสัตว์จังหวัด หรือสำนักงานปศุสัตว์อำเภอ หรือสายด่วนกรมปศุสัตว์ 063-2256888 หรือผ่านแอปพลิเคชั่น DLD 4.0 เพื่อดำเนินการตรวจสอบและควบคุมโรคอย่างเร่งด่วน ต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image