ผู้เขียน | ดร.ณัฐพล รังสิตพล |
---|
คิดเห็นแชร์ ประจำวันที่ 4 เมษายน 2563 : มุมดีๆ ในนาทีวิกฤตโควิด-19 (COVID-19) โดย ดร.ณัฐพล รังสิตพล
สวัสดีแฟนๆ คิดเห็นแชร์ทุกท่านครับ พบกันอีกครั้งในเดือนเมษายน ซึ่งเป็นเดือนที่มีอุณหภูมิสูงสุดของปีแต่ในขณะนี้สิ่งที่ร้อนกว่าอากาศคงหนีไม่พ้นสถานการณ์ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19(COVID-19) โดยเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2563 มียอดผู้ติดเชื้อสะสมแล้วกว่าล้านคนทั่วโลก และมียอดผู้เสียชีวิตกว่าห้าหมื่นคน โดยประเทศไทยมีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสม 1,978 คน เสียชีวิต 19 คน และยังไม่มีแนวโน้มที่จะลดลง
วิกฤตการณ์ที่ผู้คนทั้งโลกกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ เป็นสิ่งที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้เลยว่าผลลัพธ์ในหลายๆ มิติหลังจากที่สถานการณ์คลี่คลายแล้วจะเป็นอย่างไร แต่ที่แน่ๆ คือเกือบทุกประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างหนักหน่วง
การคาดการณ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยได้วิเคราะห์ว่า ในปี 2563 นี้ตัวเลข GDP ของไทยจะติดลบถึง 5.3% อันเป็นผลมาจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศชะลอตัวลง โดยกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่า 43.6% ของ GDP รวมทั้งหมดคือกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบทางตรงจากวิกฤตการณ์ในครั้งนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แต่ “ในทุกๆ วิกฤตย่อมมีโอกาสซ่อนอยู่เสมอ” เช่นเดียวกับวิกฤตการณ์ COVID-19 ครั้งนี้ ที่ทำให้เห็นมุมดีๆ จากสถานการณ์ปัจจุบันที่ภาครัฐได้ออกมาตรการขอความร่วมมือให้ประชาชน “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ส่งผลให้ประชาชนในกรุงเทพมหานครลดปริมาณการสัญจรบนท้องถนนอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยปริมาณยานพาหนะรถยนต์ที่วิ่งบนท้องถนนลดลงกว่า 80% ซึ่งเป็นสัดส่วนที่เท่ากับปริมาณการปล่อยมลพิษไอเสียที่จะลดลงตามมาตรฐาน Euro 5 เมื่อเทียบกับมาตรฐาน Euro 4 ที่ประเทศไทยบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน จะส่งผลให้สภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมของกรุงเทพฯ ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
อย่างไรก็ตาม ทุกๆ วิกฤตย่อมเกิดขึ้นและสิ้นสุดลง โดยหลังจากวิกฤตสิ้นสุดลงแล้ว เราก็คงจะเห็นรถยนต์กลับมาวิ่งบนท้องถนนในกรุงเทพฯ กันอย่างหนาแน่นเหมือนเดิม ซึ่งอาจทำให้อากาศที่สะอาดและสิ่งแวดล้อมที่ดีหายไป แต่ถือเป็นโอกาสที่ดีและโชคดีของคนไทย โดยรัฐบาลมีแผนในการยกระดับมาตรฐานการปล่อยมลพิษไอเสียของรถยนต์ให้เป็นมาตรฐาน Euro 5 ในปี’64 และเป็น Euro 6 ในปี’65 ตามลำดับ รวมถึงเร่งผลักดันให้เกิดการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (Battery Electric Vehicle) อย่างเต็มรูปแบบ เพื่อทำให้สภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมของประเทศมีคุณภาพที่ดีแบบนี้ไปตลอด
สำหรับอีกหนึ่งมุมดีๆ ของภาคธุรกิจไทยที่สามารถสร้างโอกาสดีๆ ได้จากวิกฤตการณ์ครั้งนี้ ผมมองว่ามีอยู่ 2 ภาคธุรกิจ คือ 1) ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินค้าอุปโภคและบริโภค ซึ่งในสถานการณ์ปัจจุบันประเทศไทยมีสินค้าอุปโภคและบริโภคเพียงพอต่อความต้องการของประชาชน และไม่ได้ประสบสภาวะขาดแคลนสินค้าเหมือนหลายๆ ประเทศ ส่งผลให้ภาคธุรกิจที่ผลิตสินค้าอุปโภคและบริโภค โดยเฉพาะอาหารในประเทศที่มีอัตราการเติบโตที่สูงขึ้น สอดคล้องกับปัจจุบัน อุตสาหกรรมอาหารเป็นอุตสาหกรรมอันดับหนึ่งของไทยที่มีสัดส่วน GDP ภาคอุตสาหกรรมสูงถึง 20.6%
ดังนั้น เราจึงควรใช้โอกาสนี้สนับสนุนห่วงโซ่การผลิตของอุตสาหกรรมอาหาร โดยเฉพาะภาคการเกษตรซึ่งเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำที่สำคัญ โดยให้การส่งเสริมและยกระดับภาคการเกษตรให้เป็นเกษตรอุตสาหกรรม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตผลทางการเกษตร และสร้างความเข้มแข็งให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย
นอกจากนี้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมยังทำแคมเปญ Shop4U โดยได้รวบรวมข้อมูลรายชื่อและพิกัดตำแหน่งที่ตั้งร้านขายสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชนที่เป็นสินค้าอุปโภคและบริโภคทางเลือกที่จำเป็น เพื่อให้พี่น้องประชาชนสามารถเข้าไปค้นหาได้ที่เว็บไซต์ www.dip.go.th เพื่อลดความแออัดจากการที่ต้องไปซื้อสินค้าจากห้างร้านใหญ่ๆ
2) ธุรกิจการค้าออนไลน์ (E-Commerce) เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้พฤติกรรมการซื้อสินค้าของประชาชนเปลี่ยนไป จากที่เคยเลือกซื้อสินค้าตามร้านค้าต่างๆ มาสู่ช่องทางออนไลน์ (E-commerce) มากขึ้นโดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้เล็งเห็นความสำคัญจึงได้จัดโครงการ “ปั้น SMEs ค้าออนไลน์สู้วิกฤตโควิด-19” ซึ่งเป็นคอร์สอบรมออนไลน์ในรูปแบบไลฟ์สตรีมเป็นครั้งแรก เพื่อให้ประชาชนที่สนใจที่มีเวลาว่างตอนหยุดอยู่บ้าน ได้เรียนรู้วิธีการค้าขายออนไลน์
ซึ่งมีด้วยกัน 6 หลักสูตร ได้แก่ 1.ขายสินค้าออนไลน์ผ่านเฟซบุ๊ก (Facebook) 2.ขายสินค้าออนไลน์ผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ (Line) 3.กระตุ้นยอดขายด้วยกูเกิล แอดเวิร์ด (Google AdWords) 4.การขายสินค้าผ่านยูทูบ (YouTube) 5.ตอบลูกค้าทันใจ ปิดการขายด้วยแชตบอต (Chat Bot) และ 6.กระตุ้นยอดขายด้วยภาพถ่ายและวิดีโอ เพื่อสร้างโอกาสทางการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
จากวิกฤตการณ์ COVID-19 ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ประเทศไทยก็ยังมีมุมดีๆ ที่ทำให้คนไทยไม่ต้องดิ้นรนในการใช้ชีวิต โดยการกักตุนสินค้าอุปโภค บริโภค เหมือนที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ เพราะเรามีความอุดมสมบูรณ์ทางด้านอาหารและเป็นศูนย์กลางด้านอาหารของโลก สะท้อนกับคำกล่าวที่ว่า “เงินทอง คือ ของมายา…ข้าวปลา คือ ของจริง” อีกทั้งเรายังสามารถหาซื้อหรือขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ได้ ซึ่งผมเชื่อมั่นว่า เมื่อเราผ่านวิกฤตการณ์ครั้งนี้ไปได้ เราคนไทยจะเข้มแข็งและมีแต่สิ่งดีๆ จากโอกาสที่เราไขว่คว้าไว้ได้อย่างแน่นอน