วิกฤต โควิด-19 ฉุดเงินเฟ้อ มี.ค.ต่ำสุด 51 เดือน พณ. หั่นคาดการณ์ทั้งปี ลบ 0.6 % (คลิป)

วิกฤต โควิด-19 ฉุดเงินเฟ้อ มี.ค.ต่ำสุด 51 เดือน พณ. หั่นคาดการณ์ทั้งปี ลบ 0.6 % (คลิป)

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสต์การค้า(สนค.) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนมีนาคม 2563 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ลบ 0.54% หดตัวครั้งแรกในรอบ 33 เดือน  และเป็นอัตราต่ำที่สุดในรอบ 51 เดือน(4ปี3เดือน)นับจากเดือนมกราคม 2559  สาเหตุเงินเฟ้อหดตัวสูงมาจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 และการลดลงของกลุ่มพลังงาน ที่ลดลงต่ำสุดในรอบ 48 เดือน หรือลดลง 11.14% ตามภาวะสงครามราคาน้ำมันโลก  ระหว่างซาอุดิอาระเบียและรัสเซีย ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศลดลงถึง 11 ครั้งในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

ขณะที่กลุ่มอาหารสด แม้ขยายตัว 2.46% แต่เป็นอัตราที่ต่ำที่สุดในรอบปี เป็นผลจากความต้องการที่ลดลงตามจำนวนนักท่องเที่ยว การปิดให้บริการของร้านค้า และการปิดภาคเรียน ขณะที่ราคาอาหารสำเร็จรูป เครื่องประกอบอาหาร และของใช้ส่วนบุคคล ยังทรงตัวและเปลี่ยนแปลงตามโปรโมชั่นของห้างโมเดิร์นเทรด อย่างไรก็ตาม สินค้าบางรายการมีราคาสูงขึ้น โดยเฉพาะ มะนาว ที่ปรับตัวสูงขึ้นตามภาวะภัยแล้ง และไข่ไก่ ที่ปรับขึ้นตามพฤติกรรมการซื้อไข่ครั้งละจำนวนมาก เพื่อลดการเดินทางของผู้บริโภค ประกอบกับผลผลิตไข่ลดลงในช่วงฤดูแล้ง

เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกแล้ว เงินเฟ้อพื้นฐาน ขยายตัว  0.54% เฉลี่ยไตรมาสแรกปี 2563 เงินเฟ้อทั่วไป และเงินเฟ้อพื้นฐาน สูงขึ้น 0.41% และ 0.53 % ตามลำดับ

“สถานการณ์ช่วงนี้ถือว่าเป็นสถานการณ์ที่ไม่ปกติ ดังนั้นเครื่องชี้วัดต่างๆ ที่เป็นปัจจุบันจะมีทิศทางสอดคล้องกับความรุนแรง และความไม่แน่นอนของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และยังไม่ถือว่าเป็นภาวะเงินฝืด แม้เงินเฟ้อจะติดลบแล้ว เพราะเป็นเงินฝืดจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ไม่ใช้เกิดจากวัฎจักรปกติ  “

Advertisement

นางสาวพิมพ์ชนก กล่าวว่า แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ไตรมาส 2/ 2563 ว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และแนวโน้มการลดลงของราคาพลังงานโลก เป็นปัจจัยสำคัญส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อต่ออุปสงค์และอุปทาน และยังไม่มีสัญญาณที่ชัดเจนว่าจะคลี่คลายได้เมื่อใด ขณะที่สถานการณ์ภัยแล้ง แม้จะส่งผลต่อผลผลิตสินค้าเกษตรบางชนิด แต่โดยรวมน่าจะมีผลน้อยกว่าปัจจัยด้านอุปสงค์ ซึ่งหากสถานการณ์ยังคงดำเนินต่อไปภายใต้ความไม่แน่นอน และส่งผลให้พฤติกรรมการบริโภคเปลี่ยนแปลงในลักษณะที่ลดทอนความต้องการและลดกิจกรรมทางธุรกิจแล้ว คาดว่าเงินเฟ้อในไตรมาสที่ 2 จะมีโอกาสลดลงต่อเนื่องถึงครึ่งหลัง

“จากปัจจัยกระทบต่อเงินเฟ้อขาลง ทำให้ กระทรวงพาณิชย์ทบทวนคาดการณ์เงินเฟ้อทั้งปี 2563 ใหม่ จากเดิม 0.8 % กรอบบวก 0.4 ถึง 1.2 % เป็น ลบ 0.6  %  กรอบลบ 1.0 ถึง ลบ 0.2  %  บนสมมุติฐานจีดีพีติดลบ 4.8 ถึงลบ 5.8% น้ำมันโลก 35-45 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และ ค่าเงินบาท 30-32.50 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นภาวะเงินเฟ้อตกต่ำกว่าวิกฤตน้ำท่วมปี54 เนื่องจากวิกฤตโควิดกระทบทั้งระบบรายได้หดหายจากรายได้นักท่องเที่ยว ส่งออก งดกิจกรรม จนกระทบต่อเศรษฐกิจตกต่ำ “ นางสาวพิมพ์ชนก กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image