อินฟราฟัน ประจำวันพุธที่ 8 เมษายน 2563 : เข็นสีส้มฝ่าวงล้อมโควิด-19

อินฟราฟัน ประจำวันพุธที่ 8 เมษายน 2563 : เข็นสีส้มฝ่าวงล้อมโควิด-19

อินฟราฟัน ประจำวันพุธที่ 8 เมษายน 2563 : เข็นสีส้มฝ่าวงล้อมโควิด-19

ได้ฤกษ์เปิดรับฟังความคิดเห็นภาคเอกชนเพื่อประกอบการจัดทำร่างประกาศเชิญชวน ร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน และร่างสัญญาร่วมลงทุน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) แล้ว

สำหรับรถไฟฟ้าสายสีส้ม มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพฯทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร (กม.) แบ่งเป็นส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี ระยะทาง 22.5 กม. มี 17 สถานี แบ่งเป็น สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี ปัจจุบันงานก่อสร้างคืบหน้าประมาณ 56.86% เร็วกว่าแผนประมาณ 2.57%

ขณะที่ส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ ระยะทาง 13.4 กม. มี 11 สถานี เป็นสถานีใต้ดินทั้งหมด

Advertisement

การเปิดรับฟังความคิดเห็นของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม.ครั้งนี้ เป็นไปตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 โดยเป็นการรับฟังผ่านทางออนไลน์ ทางเว็บไซต์ของ รฟม.แทนการจัดงานสัมมนาเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

มีกลุ่มเป้าหมายเป็นบริษัทที่ดำเนินกิจการบริหารการเดินรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน สถาบันการเงิน ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายระบบรถไฟฟ้า บริษัทก่อสร้าง นักลงทุนภาคเอกชน และภาคเอกชนทั่วไปที่สนใจในโครงการทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยจะเปิดไปจนถึงวันที่ 22 เมษายน 2563

เบื้องต้น ตั้งเป้าประกาศเชิญชวนเอกชนซื้อเอกชนประกวดราคาประมาณปลายเดือนเมษายนหรือต้นเดือนพฤษภาคมนี้ คาดว่าผู้ชนะประกวดราคาจะเริ่มงานก่อสร้างได้เดือนธันวาคม 2563 หรือมกราคม 2564

รถไฟฟ้าสายนี้ กำหนดวงเงินลงทุนประมาณ 1.2 แสนล้านบาท เปิดให้เอกชนร่วมลงทุนในรูปแบบพีพีพี เน็ท คอสท์ระยะเวลา 30 ปี บริษัทที่ชนะ นอกจากจะได้ก่อสร้างงานโยธาส่วนตะวันตกแล้ว ยังจะได้เป็นผู้ลงทุนติดตั้งระบบรถไฟฟ้า จัดหาขบวนรถ และการเดินรถไฟฟ้าตลอดทั้งสาย คือ จากบางขุนนนท์-มีนบุรีด้วย

ภาครัฐจะลงทุนค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน (เวนคืน) ประมาณ 1.46 หมื่นล้านบาท และอุดหนุนเงินลงทุนเอกชนค่างานโยธาไม่เกิน 9.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะเป็นในลักษณะให้เอกชนออกเงินก่อสร้างไปก่อน ภาครัฐจะผ่อนชำระคืนเป็นรายปี รวม 10 ปี พร้อมดอกเบี้ย นับจากเปิดเดินรถตลอดเส้นทางในปี 2569 แต่ระยะเวลาสัมปทานจะเริ่มนับหลังจากช่วงตะวันออก ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี เปิดบริการในปี 2567

ส่วนเอกชนลงทุนค่างานระบบไฟฟ้า ขบวนรถไฟฟ้า การบริหารการเดินรถ และซ่อมบำรุงรักษาตลอดเส้นทาง ระยะเวลาในการเดินรถ 30 ปี

ถึงตอนนั้น เชื่อว่าโควิดคงหยุดแพร่ระบาด ได้นั่งรถไฟฟ้าทั้งมุดดิน ลอยฟ้า กันแบบชิวๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image