เข้มงวดเคลื่อนย้ายไข่ไก่ ป้องกันโรคระบาดสัตว์ และคุ้มครองผู้บริโภค

กรมปศุสัตว์ขอความร่วมมือเจ้าของฟาร์มไก่ไข่ ผู้ประกอบการ ล้งไข่ แจ้งขออนุญาตเคลื่อนย้ายไข่ไก่คุ้มครองชีวิตประชาชนไม่ให้เสี่ยงต่อโรคระบาด ตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาได้ หวั่นลักลอบนำเข้าเกิดไข้หวัดนกซ้ำเติม

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวว่า ในอดีตประเทศไทยเคยประสบปัญหาการระบาดของโรคไข้หวัดนก ซึ่งเป็นโรคระบาดสัตว์ปีกและเป็นโรคสัตว์ติดต่อสู่คน ที่สามารถแพร่กระจายเชื้อเป็นวงกว้าง ผ่านทางไข่ไก่ คน และยานพาหนะขนส่ง แม้ว่าประเทศไทยจะไม่พบการโรคระบาดของโรคไข้หวัดนกมา 10 กว่าปีแล้ว แต่ประเทศเพื่อนบ้านก็ยังมีรายงานการเกิดโรคอยู่เป็นระยะๆ ดังนั้น เพื่อเป็นการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ กรมปศุสัตว์จึงอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ .. 2558 กำหนดให้ฟาร์มไก่ไข่ ผู้ประกอบการศูนย์รวบรวมไข่ และล้งไข่ เพื่อการบริโภค ต้องปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าว ได้แก่ มาตรา 8 กำหนดให้ต้องมียานพาหนะและอุปกรณ์ในการเคลื่อนย้ายไข่ไก่เป็นการเฉพาะ มาตรา 22 กำหนดให้ต้องมีใบอนุญาตเคลื่อนย้าย และมาตรา 24 กำหนดให้ต้องมีใบอนุญาตค้า

อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวต่อว่า การควบคุมเคลื่อนย้ายไข่ นอกจากจะมีประโยชน์ด้านการป้องกัน ควบคุมโรคระบาดในสัตว์ปีกแล้ว ยังเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคอีกทางหนึ่ง เพราะจะทำให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับปริมาณและแหล่งที่มาของไข่ได้จนถึงฟาร์ม กรณีที่ไข่จากฟาร์มหรือศูนย์รวบรวมไข่ถูกส่งไปจำหน่ายแล้วผู้บริโภคร้องเรียนปัญหาไข่ไม่มีคุณภาพ ไม่ได้มาตรฐาน และไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค เช่น ตรวจพบยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าแมลงตกค้างในไข่ ที่เกิดจากการเลี้ยงที่ไม่ได้มาตรฐานหรือจงใจลักลอบใช้ในฟาร์ม ซึ่งผิดกฎหมายและเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค เจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์จะดำเนินการสืบสวนที่มาจนถึงแหล่งรวบรวมหรือฟาร์มต้นเหตุเพื่อดำเนินการตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป

อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวว่า สำหรับข้อสงสัยในสื่อโซเชี่ยลบางแห่งว่า กรมปศุสัตว์ไม่อนุญาตให้ผู้ค้าขายไข่ไก่นอกพื้นที่ภาคใต้ส่งไข่ไก่ไปจำหน่ายในภาคใต้ นั้น กรมปศุสัตว์ตรวจสอบแล้วไม่พบกรณีดังกล่าวตลอดจนไม่ได้ห้ามการเคลื่อนย้ายไข่ไก่ลงไปจำหน่ายในภาคใต้แต่อย่างใด โดยจากการตรวจสอบข้อมูลการออกใบอนุญาตเคลื่อนย้ายไข่ไก่เพื่อการบริโภคไปยังพื้นที่ภาคใต้ ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ (e-movement) กำหนดให้พื้นที่ต้นทางเป็นจังหวัดนอกพื้นที่ภาคใต้ และพื้นที่ปลายทางเป็นจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ (พื้นที่ปศุสัตว์เขต 8 และ 9 รวม 14 จังหวัด) ตั้งแต่เดือนมกราคม 2561 จนถึงมีนาคม 2563 พบว่า

     ปี 2561 มีการออกใบอนุญาตฯ ไปยังพื้นที่ภาคใต้ 5,883 ฉบับ ปริมาณไข่ไก่ 177,735,282 ฟอง   จากจังหวัดต้นทาง 23 จังหวัด ปลายทาง 14 จังหวัด

Advertisement

  ปี 2562 มีการออกใบอนุญาตฯ ไปยังพื้นที่ภาคใต้ 22,499 ฉบับ ปริมาณไข่ไก่ 610,048,242 ฟอง จากจังหวัดต้นทาง 33 จังหวัด ปลายทาง 14 จังหวัด 

  ปี 2563 มีการออกใบอนุญาตฯ ไปยังพื้นที่ภาคใต้ 7,596 ฉบับ ปริมาณไข่ไก่ 161,286,214 ฟอง   จากจังหวัดต้นทาง 22 จังหวัด ปลายทาง 14 จังหวัด

ที่ผ่านมากรมปศุสัตว์ได้อำนวยความสะดวกต่อฟาร์มและผู้ประกอบการค้าไข่ โดยเน้นการมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชน สอบถามข้อคิดเห็นจากผู้แทนภาคส่วนต่างๆ ให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง รวมทั้งพัฒนาระบบการออกใบอนุญาตเคลื่อนย้ายไข่ออนไลน์ ซึ่งเจ้าของฟาร์มไก่ไข่ผู้ประกอบการศูนย์รวบรวมไข่ และล้งไข่สามารถออกใบอนุญาตได้เองทั้งในและนอกเวลาราชการ โดยนำลายเซ็นดิจิทัลมาใช้ในการลงนามเพื่อออกใบอนุญาตเพื่อลดขั้นตอน ลดระยะเวลาการให้บริการ ทำให้ประชาชนได้รับความสะดวกในการขอรับบริการจากกรมปศุสัตว์ รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถดูได้ที่http://aqi.dld.go.th/webnew/index.php/th/news-menu-2/royal-menu/19-royal-cat/139-egg-online หากประชาชนหรือผู้ประกอบการรายใด มีความสงสัยหรือข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะสามารถติดต่อได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02-501-3473 -5 ต่อ 106 หรือที่แอพพลิเคชั่น DLD 4.0

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image