เกษตรกรรอลุ้น! รับบ้านละ 15,000 บาท ไม่ต้องลงทะเบียน แจก 9 ล้านครัวเรือน

เกษตรกรรอลุ้น! รับบ้านละ 15,000 บาท ไม่ต้องลงทะเบียน แจก 9 ล้านครัวเรือน

เมื่อวันที่ 9 เมษายน นายอุตตม สาวนายน รมว.การคลัง เปิดเผยถึงมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรจากโควิด ว่าในวันที่ 10 เมษายน จะหารือกับผู้บริหารธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อหาข้อสรุปมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อีกครั้ง ก่อนเสนอให้ ครม.เห็นชอบโดยเร็วที่สุด ซึ่งจากการหารือเบื้องต้นยังมีรายละเอียดต้องกลับไปพิจารณา ยังไม่ได้ข้อสรุป

นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการ ธ.ก.ส.กล่าวว่า การหารือให้เงินช่วยเหลือเกษตรกรกับ รมว.การคลังในวันที่ 9 เมษายน ยังไม่ได้ข้อสรุป เนื่องจากต้องไปทำรายละเอียดเพิ่มเติมในประเด็นที่สำคัญ 3 เรื่องคือ 1.จะให้ความช่วยเหลือเป็นครัวเรือน และให้จำนวนกี่ครัวเรือน 2.ให้เงินช่วยเหลือครัวเรือนจำนวนเงินเท่าใดต่อครัวเรือน 3.วิธีการจ่ายเงินจะจ่ายกี่ครั้ง หรือครั้งเดียว โดยต้องคำนึงถึงงบประมาณจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ให้อยู่ในส่วนของวงเงินช่วยเหลือเยียวยา 6 แสนล้านบาท ที่ดูแลทั้งด้านการสาธารณสุข อาชีพอิสระ และเกษตรกร

นายอภิรมย์กล่าวว่า ยังมีรายละเอียดต้องไปดูเพิ่มเติมว่ากลุ่มเกษตรกรที่ได้จะต้องไม่ซ้ำซ้อนกับอาชีพอิสระที่ได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท ผ่านการลงทะเบียนเว็บไซต์เราไม่ทิ้งกันหรือไม่ เพราะในหลักการกระทรวงการคลังไม่ต้องการให้มาตรการช่วยเหลือซ้ำซ้อนกัน เพราะต้องการกระจายการช่วยเหลือไปให้ถึงจำนวนคนมากที่สุด

นายอภิรมย์กล่าวว่า สำหรับกลุ่มเกษตรกรที่จะรับเงินช่วยเหลือจะครอบคลุมทั้งหมด ทั้งชาวนา ชาวไร่ ชาวสวน ประมง และปศุสัตว์ ที่มีการลงทะเบียนไว้กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประมาณ 9 ล้านครัวเรือน โดยไม่จำเป็นต้องมาลงทะเบียนใหม่ เพราะกระทรวงเกษตรขึ้นทะเบียนไว้หมดแล้วกว่า 99% อาจจะมีส่วนเก็บตกบ้างนิดหน่อยเท่านั้น

Advertisement

“วันที่ 10 เมษายน จะสรุปมาตรการได้แน่นอน หากจ่ายครอบครัวละ 15,000 บาท เหมือนอาชีพอิสระ 9 ล้านครัวเรือน ก็จะใช้เงินไม่เกิน 1.3 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นการใช้เงินจาก พ.ร.ก.กู้เงิน ไม่ได้ใช้เงินของธนาคาร โดยการจ่ายเงินจะจ่ายผ่านบัญชี ธ.ก.ส. ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่เป็นลูกค้ามีบัญชีกับธนาคารทั้งหมด เหลือ 4 แสนครัวเรือนที่ไม่มีบัญชี” นายอภิรมย์กล่าว

นายอภิรมย์กล่าวว่า ในหลักการการช่วยเหลือคงไม่น่าได้เงินมากกว่า 15,000 บาทต่อครัวเรือน เพราะเป็นมาตรการช่วยบรรเทาผลกระทบ และเกษตรกรแต่ละผลผลิต เช่น ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพด ก็มีมาตรการช่วยเหลือโดยเฉพาะอยู่แล้ว เช่น มาตรการประกันรายได้ ซึ่งเงินช่วยเหลือทั้งหมดจะอยู่ในวงเงิน 6 แสนล้านบาท ตามกรอบ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image