ดร.โกร่ง ผนึกนักการเงินชื่อดัง ส่งจม.เปิดผนึกถึง ‘บิ๊กตู่’ จี้เบรก ‘ธปท.’ ควัก 4 แสนล้าน ซื้อตราสารหนี้ภาคเอกชน

ดร.โกร่ง ผนึกนักการเงินชื่อดัง ส่งจม.เปิดผนึกถึง ‘บิ๊กตู่’ จี้เบรก ‘ธปท.’ ควัก 4 แสนล้าน

เมื่อวันที่ 9 เมษายน ดร.วีรพงษ์ รามางกูร นักเศรษฐศาสตร์และอดีตเจ้าหน้าที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมลงชื่อจดหมายเปิดผนึก ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยยุติการดำเนินการ เรื่องการใช้วงเงิน 400,000 ล้านบาท รับซื้อตราสารหนึ้ภาคเอกชน เพราะขัดกับหลักการของธนาคารกลางโดยเสนอว่า หากจะต้องทำ ควรโอนไปให้ธนาคารของรัฐทำเพราะหากมีคดีความจะเกิดปัญหา และไม่สอดคล้องหลักการธนาคารกลางที่ต้องรักษาตัวให้เป็นผู้ให้กู้ยืมรายสุดท้าย

จดหมายเปิดผนึก ลงวันที่ 8 เมษายน 2563 ส่งถึง นายกรัฐมนตรี สำเนาถึงผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย มีเนื้อหาระบุว่า

พวกข้าพเจ้า ซึ่งเป็นอดีตประธานคณะกรรมการ อดีตผู้บริหารและพนักงานระดับสูงของธนาคารแห่งประเทศไทย ใคร่ขอกราบเรียนเกี่ยวกับร่างพระราชกำหนดที่ให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทย ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบกับข้อเสนอของธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อออกพระราชกำหนด 2 ฉบับ ให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจเข้าไปจัดสรรเงินจำนวน 5 แสนล้านบาท เพื่อช่วยสภาพคล่องของวิสาหกิจเอกชนขนาดกลางและขนาดย่อม โดยจัดสินเชื่อดอกเบี้ยผ่อนปรนผ่านสถาบันการเงินต่างๆ กับให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจเข้าซื้อตราสารทางการเงินที่ออกโดยบริษัทเอกชนที่ครบกำหนดไถ่ถอนภายในปี 2563 และ 2564 ที่ไม่สามารถหาแหล่งเงินที่จะไถ่ถอน หรือออกตราสารหนี้ใหม่เพื่อไถ่ถอนตราสารหนี้ที่ครบกำหนดไถ่ถอนได้ ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยสามารถไถ่ถอนหรือซื้อตราสารของบริษัทที่มีความน่าเชื่อถือ (investment grade) ลงทุนได้ในวงเงินไม่เกิน 4 แสนล้านบาท

พวกข้าพเจ้าเห็นว่ากรณีหลังนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ควรกระทำโดยตรง เพราะสามารถกระทำผ่านสถาบันการเงินของรัฐบาล เช่น ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรฯ และหรือธนาคารอาคารสงเคราะห์ เพื่อรักษาหลักการที่ธนาคารกลางควรเป็นเฉพาะนายธนาคารของรัฐบาล และเป็นแหล่งเงินสุดท้ายของธนาคารพาณิชย์ (Lender of the last resort) และอาจจะขยายไปถึงสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐบาลด้วยเท่านั้น ถ้าจำเป็น

Advertisement

การที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเข้าซื้อขายตราสารหนี้ของบริษัทเอกชนโดยตรง โดยการแก้กฎหมาย จะเป็นการเปิดช่องให้มีการใช้ธนาคารกลางอย่างธนาคารแห่งประเทศไทยไปในทางเอื้อต่อเอกชนบางรายอย่างไม่โปร่งใสได้ในอนาคต เพราะกฎหมายอนุญาตให้ธนาคารแห่งประเทศไทยใช้ดุลยพินิจในการให้ความอนุเคราะห์แก่บางรายและไม่ให้แก่บางราย โดยอ้างการจัดลำดับความน่าเชื่อถือของสถาบันการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ และเมื่อมีปัญหาเกิดการฟ้องร้อง ธนาคารแห่งประเทศไทยก็จะต้องทำการฟ้องร้องบริษัทเอกชน ซึ่งจะทำให้เสียภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของธนาคารกลางได้
ดังนั้นแทนที่จะแก้กฎหมายให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเข้าซื้อตราสารหนี้ของบริษัทเอกชนที่จะครบกำหนดไถ่ถอน หรือตราสารหนี้ที่ออกใหม่โดยตรง รัฐบาลควรให้นโยบายสถาบันการเงินของรัฐบาล เช่นธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์และหรือธนาคารเพื่อการเกษตรดำเนินการได้ โดยธนาคารแห่งประเทศไทยจะจัดสรรสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้และไม่ต้องเข้าไปดำเนินการเองโดยตรง ไม่ต้องแก้กฎหมายเพราะหลักการของกฎหมายเดิมดีอยู่แล้ว จึงเรียนมาเพื่อทราบ

สำหรับผู้ร่วมลงชื่อเบื้องต้น มีอาทิ นายวีรพงษ์ รางมางกูร นายโอฬาร ไชยประวัติ นายศิริ การเจริญดี นายธีรชัย ภูวนารถนรานุบาล นายเสรี จินตนเสรี นายดุสิต เต็งนิยม นายกิติพร ลิมปิสวัสดิ์ นายจิตติพันธุ์ สุขกิจ นายสุพจน์ สัตยธรรม นายปราโมทย์ ชัยสาม น.ส. ศิริพรรณ บุศยศิริ ม.ร.ว.นพเกตมณี เต็งนิยม นายพิสิษฐ์ วีระสมบูรณ์ศิลป์ น.ส. อรพรรณ สมบัติยานุชิต นายสมชาย เสตกรณุกูล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image