แล้งหนักทำลุ่มเจ้าพระยาอ่วม! กรมชลฯรับน้ำต้นทุนไม่พอทำเกษตร

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศ ปัจจุบัน มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกันประมาณ 35,599 ล้านลูกบาศก์เมตร​ (ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 50 ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 12,270 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำรวมกัน 9,087 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 37 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 2,391 ล้าน ลบ.ม.

สำหรับ ผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งทั้งประเทศ ปัจจุบัน มีการใช้น้ำไปแล้ว 15,070 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 85 ของแผนจัดสรรน้ำฯ เฉพาะในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำไปแล้ว 4,046 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 90 ของแผนจัดสรรน้ำฯที่วางไว้ อ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำใช้การได้น้อยกว่าร้อยละ 30 ของความจุอ่าง มีจำนวน 21 แห่ง อาทิ เขื่อนภูมิพล จ.ตาก, เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์, เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เขื่อนแม่กวงอุดมธารา จ.เชียงใหม่, เขื่อนแม่มอก จ.ลำปาง, เขื่อนห้วยหลวง จ.อุดรธานี, เขื่อนหนองปลาไหล และเขื่อนประแสร์ จ.ระยอง เป็นต้น

ขณะที่ แผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2563 ได้วางแผนเพาะปลูกข้าวนาปรังทั้งประเทศ 2.31 ล้านไร่ ปัจจุบัน มีการทำนาปรังไปแล้ว 4.20 ล้านไร่ เกินแผนฯไปแล้วถึงร้อยละ 82 มีการเก็บเกี่ยวแล้ว 2.28 ล้านไร่ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาไม่มีแผนการเพาะปลูกข้าวนาปรัง เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุน มีไม่เพียงพอต่อการสนับสนุนด้านการเกษตร แต่จากการสำรวจพบว่ามีการทำนาปรังไปแล้วประมาณ 1.98 ล้านไร่ เก็บเกี่ยวแล้ว 1.68 ล้านไร่ ส่วนใหญ่ใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่ของตนเองในการเพาะปลูก

นายทวีศักดิ์​ กล่าวว่า กรมชลประทาน ได้ให้โครงการชลประทานทุกพื้นที่ บริหารจัดการน้ำในแต่ละพื้นที่ให้เป็นไปตามแผนการจัดสรรน้ำที่วางไว้ พร้อมทั้งจัดเตรียมเครื่องจักร-เครื่องมือ ให้สามารถพร้อมใช้งานได้อยู่เสมอ กำจัดวัชพืชไม่ให้ กีดขวางทางน้ำ รวมถึงตรวจสอบระบบและอาคารชลประทาน ให้สามารถรองรับสถานการณ์น้ำได้อย่างเต็มศักยภาพ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image