นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า มาตรการช่วยเหลือประชาชนและภาคธุรกิจของภาครัฐ เพื่อลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงการคลัง ได้ออกมาตรการมาแล้ว2 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 มาตรการด้านภาษี อาทิ การลดอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายจาก 3% เหลือ 1.5% ลดภาระดอกเบี้ยจ่าย ขณะเดียวกันผู้ประกอบการขนาดเล็กและกลาง (เอสเอ็มอี) สามารถนำรายจ่ายค่าจ้างของลูกจ้างมาหักลดหน่อยภาษีได้ 2-3 เท่า รวมถึงการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีนิติบุคคล และภาษีบุคคลธรรมดา กระทรวงฯ ได้เร่งขบวนการของกรมสรรพากร ให้รีบดำเนินการคืนเงินอย่างรวดเร็วที่สุด
นายประสงค์กล่าวว่า ส่วนระยะที่ 2 ประเมินว่าผู้ประกอบการบางรายอาจติดขัดหรือมีปัญหาด้านสภาพคล่อง จึงได้ขยายเวลายื่นชำระภาษีของกรมสรรมพากร ทั้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีสรรสามิตในบางส่วน ไปจนถึงเดือนสิงหาคม–กันยายน 2563 เพื่อไม่ให้สภาพคล่องติดขัดและสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ เพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโควิด-19 รวมทั้งให้กรมศุลกากรยกเว้นภาษีนำเข้าหน้ากากอนามัย วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตหน้ากาก อุปกรณ์ทางการแพทย์ เวรภัณฑ์ และเครื่องมือทางการแพทย์ต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกด้านกระบวนการนำเข้าสินค้าให้สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น ในส่วนของมาตรการช่วยเหลือทางการเงินพบว่าผู้ประกอบการและประชาชนจะต้องกินต้องใช้ มาตรการที่จะออกมาช่วยเอสเอ็มอี ที่อยู่ในระบบประมาณมากกว่า 90% สามารถจ้างงานต่อไปได้ แม้รายได้จะติดขัดไปในช่วงเกิดปัญหาโควิด-19 นี้ โดยได้จัดมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท ให้กับแบงก์รัฐ อาทิ ออมสิน ธกส. และเอสเอ็มอีแบงก์ ในการปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำที่ 2% รวมถึงพักเงินต้นและดอกเบี้ยในช่วง 6 เดือนนี้ เพื่อช่วยลดภาระผลกระทบให้กับผู้ประกอบการและประชาชน ในการชำระหนี้ต่างๆ ทั้งยังให้ธนาคารพาณิชย์ลดดอกเบี้ยลงเพิ่มเติม ขณะที่อาชีพอิสระ หรือผู้ที่มีรายได้จากเงินเดือน แต่ถูกให้ทำงานครึ่งเดือน แล้วมีรายได้ลดลงจากการถูกชะลอการจ้างงาน ได้เตรียมวงเงินสินเชื่อ7 หมื่นล้านบาท
นายประสงค์กล่าวว่า มาตรการช่วยเหลือในการเก็บค่าธรรมเนียม ค่าเช่า การบริการของรัฐและรัฐวิสาหกิจ โดยช่วยเหลือในส่วนของผู้ที่เช่าที่กรมธนารักษ์ ในการชะลอหรือเลื่อนการเก็บค่าเช่าที่ต่างๆ พร้อมเลื่อนเก็บค่าธรรมเนียมที่ราชพัสดุ จากนั้นได้พิจารณาในส่วนของโรงรับจำนำที่เป็นส่วนของราชการ ในการจัดวงเงิน 2,000 ล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ยราคาถูกพิเศษ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้เข้าสู่ชาวบ้านที่ต้องการใช้เงินอย่างเร่งด่วน นอกจากนี้ ยังมีมาตรการเยียวยาออกมา 3 ด้าน ได้แก่ 1.เยียวยาผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากโควิด-19 ทำให้รายได้ลดลง ซึ่งก็เป็นมาตรการแจกเงิน 5,000 บาท อีก 2 ด้านเป็นมาตรการที่ประสานกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการดูแลเอสเอ็มอีที่ติดขัดปัญหาสภาพคล่อง เนื่องจากขณะนี้ไม่มีรายได้เข้ามา หรือไม่มีลูกค้า อาทิ ธุรกิจโรงแรม ท่องเที่ยว นำเที่ยว ร้านอาหารที่เกี่ยวข้องกับนักท่องเที่ยว โดยได้จัดวงเงินในการออกพ.ร.ก. 5 แสนล้าน ใช้ในส่วนของสินเชื่อดอกเบี้ยผ่อนปรนผ่านสถาบันการเงินต่างๆ รวมถึงการช่วยเหลือตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน ในส่วนของตราสารหนี้ที่ดี หากครบกำหนดในการชำระหนี้แล้ว แต่บางรายต้องการออกตราสารหนี้ใหม่อีกครั้ง ผู้ซื้ออาจมีไม่มากพอ เพราะต้องการเก็บเงินสดไว้กับตัวมากขึ้น ธปท.และคลังจะเข้าไปเสริมในส่วนที่ขาดนั้น เพื่อไม่ให้ระบบการทำธุรกิจของผู้ประกอบการได้รับผลกระทบรุนแรง
นายประสงค์กล่าวว่า สำหรับมาตรการเยียวยา 5,000 บาท ที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก มีประชาชนลงทะเบียนสูงถึง 27.5 ล้านคน ได้จ่ายเงินไปแล้วกว่า 3 ล้านคน อีกจำนวน 5-6 ล้านคน จะต้องขอข้อมูลเพิ่ม ส่วนอีกจำนวน 12 ล้านคนถูกปฏิเสธรับสิทธิ์ ซึ่งระบบจะเปิดให้ทบทวนสิทธิ์ใหม่อีกครั้ง ผ่านเว็บไซต์ในวันที่ 20 เมษายนนี้ อาทิ หากประกอบอาชีพรถจักรยานยนต์รับจ้าง หากมีใบอนุญาตในการขับขี่มอเตอร์ไซค์สาธารณะ หรือขับรถแท็กซี่ แล้วมีใบขับขี่สาธารณะ สามารถนำมาใช้พิสูจน์ยืนยันตัวจนได้ รวมถึงหมอนวดแผนไทย ที่ได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงสาธารณะสุข ก็สามารถได้รับสิทธิ์ในการรับเงินเยียวยาได้ โดยมีบางอาชีพ อาทิ ค้าขาย ที่ไม่แน่ใจว่าจะได้รับผลกระทบหรือไม่ จึงต้องมีการตรวจสอบ โดยหากอยู่ต่างจังหวัดจะมีกระทรวงมหาดไทย อาทิ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ลงพื้นที่ตรวจสอบ และส่งข่อมูลผ่านระบบไอทีเข้ามาพิจารณาอีกครั้ง โดยหากประชาชนที่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือจากมาตรการต่างๆ ที่กระทรวงการคลังได้ออกมานั้น สามารถติดต่อสอบถามได้จากหน่วยงานที่ท่านเป็นลูกค้าหรือสมาชิกภายใต้สังกัดการดูแลของกระทรวงได้ผ่านช่องทางออนไลน์
“ตัวอย่างปัญหาชัดๆ ที่พบคือ ลงทะเบียนไปแล้ว ถูกพิจารณาเป็นเกษตรกร ทั้งที่ประกอบอาชีพขับแท็กซี่ หรือนวดแผนไทย โดยในการตรวจสอบจะนำเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก มาเปรียบเทียบกับข้อมูลที่มีอยู่กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หากเลขบัตรประชาชนตรงกัน ก็เท่ากับเป็นเกษตรกรตามข้อมูลที่มีในระบบ แต่หากผู้ลงทะเบียนยืนยันว่าไม่ได้มีอาชีพเกษตรกรจริงๆ สามารถนำข้อมูลรายละเอียดทั้งหมดยื่นอุทธรณ์กลับมาใหม่ในช่วงที่เปิดอุทธรณ์ในลำดับต่อไป ซึ่งหลังจากนี้สิทธิ์ในการที่รัฐบาลจะมีมาตรการออกมาดูแลในส่วนของเกษตรกร ผู้ที่ได้รับการพิจารณาเป็นเกษตรกร จะไม่สามารถรับการช่วยเหลือแล้ว เพราะ 1 เลขบัตรประชาชน สามารถได้รับการช่วยเหลือ 1 ด้านเท่านั้น” นายประสงค์กล่าว
นายประสงค์กล่าวว่า ขณะนี้ข้อมูลการลงทะเบียนทั้ง 27.5 ล้านราย คาดว่าจะสามารถตรวจสอบพิจารณาแล้วเสร็จภายในวันที่ 19 เมษายนนี้ โดยมีผู้ลงทะเบียนจำนวน 6 ล้านราย ที่ขอข้อมูลเพิ่มเติมไป ซึ่งมีผู้ส่งข้อมูลเพิ่มเติมเข้ามาเพียง 1.9 ล้านราย ยังขาดผู้ที่ไม่ได้แจ้งข้อมูลเพิ่มเติมเข้ามากว่า 4 ล้านราย รวมถึงมีผู้บงทะเบียนเข้ามาจำนวน 6 ล้านราย ที่หลุดจากการพิจารณาไปอัตโนมัติ เพราะอายุไม่ถึง 15 ปี รวมถึงยังมีบางส่วนที่ยังมีสิทธิ์กรอกข้อมูลเข้ามาใหม่ได้ เพราะสาเหตุที่หลุดไปเกิดจากการกรอกข้อมูลไม่ตรงกับที่ให้ลงรายละเอียด อาทิ การใส่เพิ่มคำว่านาย นาง หรือนางสาวเข้าไป ซึ่งมีจำนวน 5-6 ล้านรายเช่นกัน