นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า สินค้าเครื่องปรุงรสอาหาร เป็นหนึ่งในสินค้าดาวเด่นของไทยที่มีศักยภาพและมีแนวโน้มเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติการระบาดของไวรัสโควิด-19 เพราะประชาชนหันมาประกอบอาหารรับประทานเองมากขึ้น ทำให้เครื่องปรุงรสประกอบอาหารสำเร็จรูป เช่น ซอสพริก ซอสถั่วเหลือง น้ำปลา เครื่องแกงปรุงรส ผงปรุงรส เป็นต้น ได้รับความนิยมมากขึ้น จึงเป็นโอกาสขยายตลาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ
นางอรมน กล่าวว่า โดยสถิติการส่งออกช่วง 2 เดือนแรกของปี 2563 ไทยส่งออกเครื่องปรุงรสอาหารเป็นมูลค่าสูงถึง 135.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 18 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 การส่งออกไปตลาดสำคัญขยายตัวทุกตลาด โดยเกาหลีใต้ ขยายตัวสูงสุดถึงร้อยละ 33 รองลงมา คือ อาเซียน ขยายตัวร้อยละ 25 และออสเตรเลีย ขยายตัวร้อยละ 25
” จึงทำให้ไทยขยับขึ้นครองตำแหน่งผู้ส่งออกเครื่องปรุงรสอาหาร อันดับที่ 3 ของโลก รองจากสหรัฐฯ และจีน จากเดิมอยู่อันดับ6 ในปี 2562 “นางอรมน กล่าว
นางอรมน กล่าวว่า ความตกลงการค้าเสรี(เอฟทีเอ) เป็นหนึ่งในปัจจัยช่วยหนุนให้สินค้าเครื่องปรุงรสอาหารของไทยเติบโต เพราะจากเอฟทีเอทั้ง 13 ฉบับ ที่ไทยมีอยู่ในปัจจุบัน มีผลให้ 15 ประเทศคู่เอฟทีเอ ได้แก่ อาเซียน 9 ประเทศ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ จีน ฮ่องกง ชิลี และเปรู ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าเครื่องปรุงรสอาหารจากไทยแล้ว เหลือเพียง 3 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย ที่ยังคงภาษีนำเข้าในสินค้าบางรายการ
นางอรมน กล่าวว่า ทำให้ปี 2562 ไทยส่งออกเครื่องปรุงรสอาหารสู่ตลาดโลก เป็นมูลค่าสูงถึง 790 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบระหว่างปี 2562 กับปี 2535 ซึ่งเป็นปีก่อนที่ความตกลงเอฟทีเอฉบับแรกของไทยกับอาเซียนจะมีผลใช้บังคับ พบว่าไทยมีมูลค่าการส่งออกสินค้าเครื่องปรุงรสอาหารไปตลาดโลกเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 2,017 สำหรับการส่งออกไปประเทศคู่เอฟทีเอ พบว่า ขยายตัวถึงร้อยละ 2,632 และหากแยกรายตลาด พบว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าเครื่องปรุงรสไปประเทศคู่เอฟทีเอขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกตลาด โดยตลาดอาเซียน ขยายตัวสูงที่สุดถึงร้อยละ 9,752 รองลงมา คือ จีน ขยายตัวร้อยละ 1,731 และ ออสเตรเลีย ขยายตัวร้อยละ 372
นางอรมน กล่าวว่า ตลาดเครื่องปรุงรสอาหารไทยมีแนวโน้มเติบโตในระยะยาว เนื่องจากอาหารไทยได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการไทยจะสามารถเพิ่มส่วนแบ่งตลาดได้ และควรให้ความสำคัญกับคุณภาพมาตรฐานและส่วนผสมของวัตถุดิบ รวมถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลาย เพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมการบริโภค ทั้งด้านความสะดวกสบาย และการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ควรเจาะตลาดใหม่ๆโดยเฉพาะตลาดที่ไทยมีความตกลงการค้าเสรีด้วย