‘ม.หอการค้าฯ’​ชี้พิษโควิดแรงกว่าต้มยำกุ้ง ฉุดดัชนีเชื่อมั่นฯ มี.ค.วูบ

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยถึงการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ประจำเดือนมีนาคม 2563 ว่า จากการสำรวจคณะกรรมการหอการค้า ประธานหอการค้า และรองประธานหอการค้าทั่วประเทศ จำนวน 360 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 23-27 มีนาคม 2563 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง มาอยู่ที่ระดับ 37.5 ซึ่งเป็นการปรับตัวลดต่ำสุดในรอบ 9 ไตรมาส นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2561 ถึง มีนาคม 2563 และถือว่าสถานการณ์​รุนแรงกว่าวิกฤติต้มยำกุ้ง

ทั้งนี้ จากการสำรวจในเดือนมีนาคมพบว่ามีปัจจัยลบมากกว่าปัจจัยบวก อาทิ สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นต่อนื่อง, การประกาศพระราชกำหนด (พรก.) ฉุกเฉิน และการสั่งปิดกิจการบางประเภท, จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง ความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ภัยแล้งที่อาจจะส่งผลกระทบกับภาคการเกษตร และค่าดัชนีตลาดหุ้นไทย เดือนมีนาคม 2563 ปรับตัวลดลง 214.66 จุด จาก 1,340.52 ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ เป็นต้น ส่งผลให้ดัชนีปัจจุบันปรับตัวลดลงอยู่ที่ 33.1 และดัชนีฯ อนาคตลดลงมาอยู่ที่ 41.9 เช่นเดียวกับดัชนีความเชื่อมั่นของหอการค้าไทยปรับตัวลดลงทุกรายการ

สำหรับ ปัจจัยบวกในเดือนมีนาคม ประกอบด้วย คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 4 ต่อ 2 เสียง คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% และระดับราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศปรับตัวลดลงประมาณ 4.70 บาทต่อลิตร จากเดือนที่ผ่านมา รวมถึงราคาน้ำมันเบนซิล 95 ปรับตัวลดลงประมาณ 6.50 บาทต่อลิตรจากเดือนที่ผ่านมา

ขณะที่ ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย เมื่อแยกไปตามภูมิภาค ยังมีการปรับตัวลดลงในทุกภูมิภาค และยังคงมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องการแพร่การจ่ายของโควิด-19 ส่งผลให้นักท่องเที่ยวหาย และประชาชนส่วนใหญ่ออกมาจับจ่ายน้อยลง แต่ในอนาคตมองว่ามีโอกาสที่สถานการณ์เศรษฐกิจจะกลับมาดีได้แต่ยังไม่พ้น 50 จุด ซึ่งส่วนใหญ่มองไปในทิศทางเดียวกันในเรื่องของการประคองจ้างงานให้มีคนตกงานน้อยที่สุดในช่วงวิกฤตินี้

Advertisement

นอกจากนี้ สำหรับข้อเสนอที่อยากให้รัฐบาลเร่งช่วยเหลือในขณะนี้ อาทิ ให้มีการจ้างงานรายชั่วโมง เพื่อป้องกันปัญหาการเลิกจ้างแรงงาน โดยกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ 325 บาทต่อวัน คิดเป็น ชั่วโมงละ 40-41 บาท ต่อการจ้างงาน หรือไม่ต่ำกว่า 4 ชั่วโมง ไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน และบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่มีโอกาสปลดแรงงานออก สามารถที่จะจ่ายเงินเดือนในจำนวนเงิน 75% ของเงินเดือนที่ได้รับปกติ โดยภาครัฐ สนับสนุนค่าจ้างเงินเดือน 50% (จากประกันสังคม) และบริษัทเอกชนจ่าย อีก 25% ให้พนักงานและแรงงานที่มีเงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาท สามารถนำค่าใช้จ่ายด้านเงินเดือนค่าจ้าง แรงงานมาใช้หักภาษีได้ 3 เท่าในช่วงระหว่างโควิด-19 ระบาด เป็นต้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image