นายวสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าฝ่ายงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอเอส เปิดเผยว่า ภายใต้งบประมาณ 100 ล้านบาท ในภารกิจเอไอเอส 5G สู้ภัยโควิด-19 มีการดำเนิน ได้แก่ 1.การติดตั้งเครือข่าย 5G ในโรงพยาบาล 20 แห่ง ที่รับตรวจหาเชื้อโควิด-19 และกำลังขยาย 5G ให้ครอบคลุมพื้นที่โรงพยาบาลในกรุงเทพฯ และปริมณฑล อีก 130 แห่ง และในต่างจังหวัดอีก 8 โรงพยาบาล 2.ตั้งศูนย์เฉพาะกิจเอไอเอส โรโบติกส์แล็บ ซึ่งระดมนักวิจัย นักพัฒนาที่เชี่ยวชาญด้านดิจิทัล หุ่นยนต์ทางการแพทย์ 5G เทเลเมดิซีน และโซลูชั่นงานบริการทางการแพทย์ โดยทำงานร่วมโรงพยาบาล และ 3.พัฒนาหุ่นยนต์ทางการแพทย์ 5G โรบอทฟอร์แคร์ ซึ่งเป็นผู้ช่วยแพทย์และพยาบาล ตรวจคัดกรองผู้ป่วย
นายวสิษฐ์ กล่าวว่า ทั้งนี้ หุ่นยนต์ทางการแพทย์ จะทำหน้าที่ดูแลและตรวจอาการผู้ป่วยภายในห้องพักผู้ป่วย ซึ่งช่วยแบ่งเบาภาระ ลดเสี่ยง ลดสัมผัสผู้ป่วยของแพทย์และพยาบาล โดยได้ทยอยส่งมอบหุ่นยนต์ 23 ตัว ให้กับโรงพยาบาล 22 แห่ง ที่รับตรวจและรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในต้นเดือนพฤษภาคม 2563 โดยโรงพยาบาลที่รับมอบหุ่นยนต์แล้ว ได้แก่ โรงพยาบาลราชวิถี, โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย, โรงพยาบาลศิริราช, โรงพยาบาลรามาธิบดี, โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาการุณ, สถาบันบำราศนราดูร และกรมการแพทย์ทหารเรือ
สำหรับหุ่นยนต์ทางการแพทย์ 5G โรบอทฟอร์แคร์ มีฟีเจอร์อัจฉริยะ อาทิ เทคโนโลยีอินฟราเรด ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายได้อย่างแม่นยำ โดยส่งผลข้อมูลผ่านเครือข่าย 5G ไปให้แพทย์ที่ให้การรักษาได้อย่างทันที, เทคโนโลยี 3D Mapping กำหนดแผนที่เส้นทางเดินของหุ่นยนต์ ให้เคลื่อนที่เข้าหาผู้ป่วยได้โดยอัตโนมัติ อย่างรวดเร็วและแม่นยำ และยังสามารถบังคับหุ่นยนต์เคลื่อนที่ได้ตามต้องการผ่านเครือข่าย 5G, เทเลเมดิซีน หรือระบบปรึกษาทางไกลระหว่างแพทย์และผู้ป่วยผ่านวิดีโอคอล เพื่อให้แพทย์ที่อยู่ด้านนอกห้อง ใช้สมาร์ทดีไวซ์ เชื่อมต่อมาที่ตัวหุ่นยนต์ เพื่อพูดคุยและดูอาการคนไข้ภายในห้องพักได้ ช่วยหลีกเลี่ยงการเข้ามาสัมผัสหรือใกล้ชิดกับผู้ป่วยโดยตรงได้ และเทคโนโลยีคลาวด์คอมพิวติ้งในการประมวลผลจัดเก็บข้อมูลการรักษาพยาบาลผู้ป่วย
นอกจากนี้ ยังสามารถเสริมฟีเจอร์ต่างๆ ในหุ่นยนต์ได้ตามที่แต่ละโรงพยาบาลต้องการ เช่น ตรวจวัดค่าออกซิเจนในเลือด, ส่งยาให้ผู้ป่วยถึงเตียง, บริการเจลแอลกอฮอล์ล้างมือเคลื่อนที่ เป็นต้น
นายวสิษฐ์ กล่าวว่า ในอนาคต เอไอเอส โรโบติกส์แล็บ เตรียมพัฒนาความสามารถของหุ่นยนต์ให้สามารถรองรับบริการทางการแพทย์ที่หลากหลายมากขึ้น อาทิ สั่งหุ่นยนต์ให้ทำงานผ่านทางเสียง, การทำความสะอาดด้วยตัวเอง ผ่านโอโซนและยูวี, ด้วยความสามารถจดจำเส้นทาง และจดจำใบหน้าได้ หุ่นยนต์จะสามารถทำภารกิจอื่นๆ ได้ เช่น การตรวจเยี่ยม, นำทางผู้ป่วยไปรักษาในแผนกต่างๆ เป็นต้น อีกทั้ง ในส่วนของอินเตอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ (ไอโอที) และ 5G ที่จะมีการติดต่อกันเองของอุปกรณ์ต่างๆ ข้อมูลจากหุ่นยนต์ และเครื่องมือตรวจวัดที่โรงพยาบาล จะนำมาประมวลผลร่วมกัน เช่น เมื่อเกิดความผิดปกติใดๆ ที่ตรวจจับได้จากเครื่องมือวัด หุ่นยนต์ก็สามารถจะมาเยี่ยมถึงเตียงได้โดยทันที เป็นต้น
“เอไอเอส มีประสบการณ์การทดลองทดสอบ 5G ในอุตสาหกรรมต่างๆ รวมทั้งการแพทย์อย่างต่อเนื่อง จึงเชื่อมั่นว่า 5G มีความเหมาะสมที่จะนำมาประยุกต์ใช้เป็นโครงข่ายดิจิทัลพื้นฐานสำคัญต่อการปฏิบัติงานทางการแพทย์ และจะเป็นส่วนหนึ่งในการพาประเทศผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 ซึ่งเรายินดีที่จะนำศักยภาพของเทคโนโลยี มาช่วยเหลือประชาชนคนไทย และถือเป็นการสร้างประสบการณ์การใช้งาน 5G อย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน เพื่อร่วมพลิกโฉมและสร้างความปกติในรูปแบบใหม่ (นิวนอมอล) ให้เกิดขึ้นในวงการแพทย์ไทยภายหลังวิกฤตโควิด-19 ผ่านพ้น” นายวสิษฐ์ กล่าว