เน็กซัส ชี้โควิด-19 สร้าง Covid Shock จุดเปลี่ยนอสังหาฯ พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแบบพลิกฝ่ามือ ทุกคนถูก Fast Forward เข้าสู่โลกอนาคตเพียงพริบตา ปีนี้ซัพพลายเก่าจะถูกเร่งขาย ส่วนซัพพลายใหม่ จะเข้าสู่ตลาดไม่เกิน 30,000 ยูนิต ส่งสัญญาณรัฐช่วยพิจารณามาตรการกระตุ้นอสังหาฯ และ ผ่อนปรนกฎการถือครองกรรมสิทธิ์ ชาวต่างชาติเพื่อช่วยดีเวลลอปเปอร์ไทย
นางนลินรัตน์ เจริญสุพงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เน็กซัส พรอพเพอร์ตี้ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด เปิดเผยถึงสถานการณ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์หลังวิกฤตโควิด-19 ว่า ในช่วงปีนี้เป็นช่วงเวลาแห่งการระบายสต๊อกเก่า ข้อมูลจากเน็กซัสพบว่าซัพพลายของคอนโดมิเนียมคงค้างในกรุงเทพฯ ตั้งแต่ปลายปี 2562 มีประมาณ 60,000 ยูนิต คาดว่าในปีนี้ตลาดจะสามารถดูดซับไปได้ประมาณ 80% โดยจะเริ่มเห็นการลดราคาจากดีเวลลอปเปอร์ ซึ่งราคาที่ลดลงจะอยู่ในเรทเหมาะสมและค่อนข้างดี เป็นระดับราคาที่ดีเวลลอปเปอร์ยอมรับได้และคุ้มค่าที่จะซื้อในฝั่งผู้บริโภค คาดการณ์ว่ากลุ่มอสังหาริมทรัพย์ที่จะกลับมาได้รับความสนใจเร็วที่สุดหลังวิกฤติโควิด-19 คือ คอนโดฯ ราคาไม่เกิน 4 ล้านบาท เพราะเป็นระดับราคาที่คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่รับได้ และเป็นเรียลดีมานด์ที่ต้องการอยู่อาศัยเลย ส่วนอีกตลาดที่จะฟื้นตัวเร็ว คือ สินค้าในระดับลักซ์ชัวรี ที่ถึงแม้คนส่วนใหญ่จะมีเงินลดลง แต่ยังมีกำลังซื้อมากพอที่จะจ่ายได้ โดยตัวผู้บริโภคเองจะเลือกซื้อสินค้าที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ใหม่ของตัวเอง และมีฟังก์ชั่นที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการ เช่น การปรับให้มีห้องทำงานที่เหมาะกับการทำงานที่บ้านได้ เป็นต้น
นางนลินรัตน์กล่าวว่า เมื่อประเมินเรื่องอสังหาริมทรัพย์ไทยจะเป็นอย่างไรในช่วงเวลาหลังจากโควิด-19 นั้น หากประเมินภาพเชิงลบที่สุด คือ หากวิกฤติโควิด-19 ยังดำเนินต่อไปและไม่สามารถลดปริมาณผู้ติดเชื้อได้ ผู้ประกอบการภาคเอกชนจะอยู่ได้ยาวที่สุดอีกเพียงแค่ 3 เดือนเท่านั้น และจะเป็นงานหนักสำหรับดีเวลลอปเปอร์ เพราะเมื่อภาคธุรกิจขาดสภาพคล่อง จะเริ่มเห็นแนวโน้มการปิดตัวลงของผู้ประกอบการจำนวนมาก ทำให้เม็ดเงิน ในกระเป๋าของผู้บริโภคลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลต่อการตัดสินใจชะลอการซื้อ จะกระทบต่อตลาด อสังหาริมทรัพย์มากขึ้นตามไปด้วย หากประเมินในภาพบวกเพิ่มขึ้น คือ หากเราสามารถควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อได้ และจำนวนผู้ติดเชื้อค่อยๆ ลดลงจนอยู่ในระดับที่น่าพอใจ ประเมินว่าในช่วงไตรมาส 2 นี้ ตลาดก็อาจจะ ยังไม่สดใสนัก แต่จะเห็นแนวโน้มที่จะค่อยๆ ดีขึ้นตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มปรับตัว กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้บ้าง แต่จะเห็นว่าทุกอย่างจะกลับมาดีขึ้นอย่างจริงจังในไตรมาส 3 โดยผู้ประกอบการ หลายรายจะเริ่มกลับมามีกิจกรรมทางการตลาด เพราะอย่างไรก็ตามธุรกิจต้องดำเนินไปและไตรมาสที่4 จะดีที่สุด และคาดว่าจะเป็นไตรมาสที่รัฐบาลหันกลับมาพิจารณาให้ความสำคัญกับภาคอสังหาฯ โดยมีมาตรการช่วยเหลือ และผ่อนปรนต่างๆ ออกมาเพื่อสนับสนุนให้อสังหาฯ ยังคงเดินต่อไปได้
“หากในไตรมาส 4 ภาครัฐออกมาตรการเพื่อสนับสนุนภาคอสังหาริมทรัพย์ จะเห็นตลาดรีบาวด์กลับมาอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น มาตรการลดค่าโอน ที่ขยายให้ครอบคลุมทั้งตลาดอสังหาริมทรัพย์ การยืดหยุ่นภาษีธุรกิจเฉพาะ การผ่อนปรนมาตรการ LTV รวมถึงการผ่อนคลายกฎเกณฑ์การถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินของชาวต่างชาติ โดยอาจปรับให้สามารถซื้อที่ดินหรือบ้านในโครงการจัดสรรที่พัฒนาเพื่อที่อยู่อาศัยได้ ซึ่งกำลังซื้อจากต่างชาติจะช่วยให้ตลาดอสังหาฯ ไทยกลับมาได้เร็วมากยิ่งขึ้น”นางนลินรัตน์กล่าว