“เจเอแอล” เผยโรงแรมพลิกกลยุทธ์เพิ่มรายได้ช่วงวิกฤติ ชี้อาจเป็นช่องทางสร้างรายได้ระยะยาว

ผู้ประกอบการโรงแรมไทยหากลยุทธ์เพิ่มช่องทางสร้างรายได้ลดผลกระทบธุรกิจหลายกลยุทธ์อาจใช้ต่อไปได้ในระยะยาวหลังวิกฤตการณ์โควิด-19

 นางสาวปิตินุช ภู่พัฒน์วิบูลย์ รอบบินส์ รองประธานอาวุโสฝ่ายที่ปรึกษา หน่วยธุรกิจบริการที่ปรึกษาด้านโรงแรมของเจแอลแอล บริษัทที่ปรึกษาและบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า จากการสังเกตการณ์ของ เจแอลแอล ผู้ประกอบการโรงแรมไทยใช้กลยุทธ์หลากหลายวิธีเพื่อลดผลกระทบทางธุรกิจจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยบางส่วนเลือกที่จะหยุดกิจการชั่วคราวทั้งสำหรับสาขาในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ในขณะที่อีกส่วนหนึ่งเลือกที่จะหากลยุทธ์ใหม่ๆ ในการสร้างรายได้

” โดยทั่วไป ธุรกิจโรงแรมมีรายได้หลักๆ มาจากการให้บริการห้องพัก อาหาร/เครื่องดื่ม และสถานที่จัดเลี้ยง/จัดประชุม แต่วิกฤตการณ์โรคระบาดได้ส่งผลกระทบต่อแหล่งรายได้หลักเหล่านี้ ทั้งนี้ ในขณะที่ความต้องการใช้บริการห้องพักปรับตัวลดลงมากจากภาวะซบเซาของภาคการท่องเที่ยว มาตรการรักษาระยะห่างทางสังคมที่มีการปฏิบัติใช้อย่างกว้างขวางทั่วประเทศได้ส่งผลกระทบต่อการให้บริการของโรงแรมในส่วนที่เป็นร้านอาหาร บาร์ และสถานที่จัดเลี้ยง/จัดประชุม”นางสาวปิตินุชกล่าวและว่าพบว่า เพื่อความปลอดภัยของพนักงานและผู้ใช้บริการพบว่า กลุ่มโรงแรมใหญ่ๆ ของไทยหลายกลุ่ม อาทิ ไมเนอร์ อินเตอร์ชั่นแนลดิ เอราวัณ กรุ๊ปแอสเสท เวิรด์ คอร์ปอเรชั่นเซ็นทารา โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท และดุสิต อินเตอร์เนชั่นแนลได้ประกาศปิดโรงแรมในเครือเป็นการชั่วคราว

นางสาวปิตินุชกล่าวว่า แม้กลยุทธ์ต่างๆ ที่ผู้ประกอบการโรงแรมพยายามใช้เพื่อเพิ่มช่องทางการสร้างรายได้ อาจมีหลายกลยุทธ์ที่ต้องรอดูต่อไปว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่ แต่สำหรับกลยุทธ์ใหม่ๆ ที่ให้ผลสำเร็จได้จริงแล้ว อาจเป็นกลยุทธ์ที่จะสามารถสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการโรงแรมได้ต่อไปในระยะยาว ไม่เฉพาะในสถานการณ์โควิด-19 นี้เท่านั้น

นายอเล็กซ์ ซิเกด้า รองประธานฝ่ายบริหารสินทรัพย์ หน่วยธุรกิจบริการที่ปรึกษาด้านโรงแรมของเจแอลแอล กล่าวว่า นอกเหนือจากเหตุผลด้านความปลอดภัยแล้ว การปิดโรงแรมชั่วคราวในภาวะที่ความต้องการใช้บริการมีอยู่ในระดับต่ำ ยังช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถลดต้นทุนค่าใช้จ่ายต่างๆ เกี่ยวกับการดำเนินการลงได้ อาทิ ค่าจ้างพนักงาน ค่าสาธารณูปโภค และค่าบำรุงรักษาที่ยังไม่จำเป็นต้องดำเนินการ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการบางรายยังสามารถใช้โอกาสนี้ในการปรับปรุงโรงแรมบางส่วน และยังพบว่า เครือโรงแรมบางกลุ่ม อาทิ เซ็นทารา โฮเทล แอนด์ รีสอร์ทดุสิต อินเตอร์เนชั่นแนล และชาเทรียม โฮเต็ล แอนด์ เรซิเดนซ์ ได้เปิดบริการจำหน่ายอาหารแบบเดลิเวอรี่ ผ่านแพล็ตฟอร์มรับจัดส่งอาหาร เช่น LineMan, GrabFood และ Foodpanda ในขณะที่บางโรงแรม อาทิ พูลแมน คิงพาวเวอร์ กรุงเทพ เสนอส่วนลดพิเศษและโปรโมชั่นสำหรับการซื้ออาหารกลับบ้าน

Advertisement

นายอเล็กซ์กล่าวว่า การที่บริษัทจำนวนมากที่ปิดสำนักงานและให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน ผู้ประกอบการโรงแรมบางรายจึงถือโอกาสเสนอแพคเกจ Work From Hotel ให้กับผู้ที่อาจสนใจใช้บริการห้องพักราคาพิเศษของโรงแรมใกล้บ้านในช่วงกลางวันสำหรับเป็นสถานที่ทำงานที่มีความเงียบสงบและสะดวกกว่าที่บ้าน ตัวอย่างเช่น โรงแรม 10 แห่งในเครือแอคคอร์โฮเทลทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เสนอบริการให้ใช้ห้องพักในช่วงกลางวันเป็นที่ทำงานสำหรับหนึ่งคนต่อห้อง ยังมีโรงแรมอื่นๆ ที่ให้บริการลักษณะคล้ายกันนี้ อาทิ พูลแมน คิงพาวเวอร์ กรุงเทพ โคโคเทล กรุงเทพ สุขุมวิท 50 และที 2 เรสซิเดนซ์ สาทร ค่าบริการห้องพักช่วงกลางวันอยู่ระหว่าง 450-4,500 บาทต่อห้องต่อวัน ขึ้นอยู่กับระดับของโรงแรม และประเภทห้องพัก นอกจากนี้ ยังพบด้วยว่า มีโรงแรมจำนวนมากที่เสนอตัวเป็นโรงพยาบาลสนามสำหรับรองรับผู้ป่วยจากโควิด-19 ที่มีอาการไม่รุนแรง แต่ด้วยข้อกำหนดกฎเกณฑ์ที่มีรายละเอียดมากเกี่ยวกับคุณสมบัติของโรงแรมที่จะสามารถใช้เป็นโรงพยาบาลสนามได้ ทำให้จนถึงขณะนี้ ในกรุงเทพฯ มีโรงแรมเพียงสองแห่งที่ผ่านการคัดเลือก คือ โรงแรมปริ๊นสตัน และโรงแรมพาลาสโซ โดยโรงแรมสนามเหล่านี้จะให้ความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้เคียงและได้รับค่าตอบแทนโดยตรงจากภาครัฐฯ

ยังมีผู้ประกอบการอีกจำนวนหนึ่งที่เสนอโรงแรมให้กับกระทรวงสาธารณสุขเพื่อใช้เป็นสถานที่กักตัวสำหรับกลุ่มบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ที่เดินทางกลับเข้ามาจากต่างประเทศ โดยผู้ประกอบการจะได้รับรายได้จากค่าที่พักและ/หรือค่าบริการอาหาร แม้จะเป็นกลยุทธ์ที่จะสามารถสร้างรายได้ที่ดี แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกโรงแรมที่เสนอตัวจะผ่านการคัดเลือกที่มีกฎเกณฑ์สูง นอกจากนี้ บางโรงแรมที่มีคุณสมบัติ อาจยังต้องพบกับการต่อต้านจากชุมชนใกล้เคียง”นายอเล็กซ์กล่าว

นายอเล็กซ์กล่าวว่า จากการที่หลายประเทศปิดพรมแดนชั่วคราวซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการที่เพิ่มความเข้มข้นในการสกัดกั้นไม่ให้คนเดินทางเข้าประเทศ ทำให้มีชาวต่างชาติจำนวนหนึ่งตกค้างอยู่ในประเทศไทยเนื่องจากไม่สามารถเดินทางกลับประเทศของตนเองได้ ผู้ประกอบการโรงแรมบางรายจึงจับตลาดผู้ใช้บริการห้องพักกลุ่มนี้ ด้วยการเสนอโปรโมชั่นพิเศษสำหรับกรณีการใช้บริการห้องพักระยะยาว สถานการณ์นี้ทำให้เซอร์วิสอพาร์ทเม้นท์มีข้อได้เปรียบค่อนข้างมากในตลาดผู้ใช้บริการห้องพักระยะยาว เนื่องจากห้องพักมีขนาดใหญ่ พร้อมชุดครัว เครื่องซักผ้า และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ

Advertisement

จากการที่ภาคธุรกิจโรงแรม-รีสอร์ทยังคงต้องรับแรงกดดันด้านเศรษฐกิจ เจ้าของและผู้ประกอบการโรงแรมยังคงใช้ความคิดที่สร้างสรรค์ในการหาวิธีที่จะสร้างรายได้ให้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายขั้นพื้นฐานสำหรับการดำเนินธุรกิจ นอกจากนี้ ยังมีส่วนร่วมในการให้ความช่วยเหลือสนับสนุนต่อภาครัฐฯ ในความพยายามควบคุมและแก้ไขวิกฤตการณ์โรคระบาด”นายอเล็กซ์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image