โควิด-19, พ.ร.ก. ฉุกเฉิน, ภัยแล้ง ฉุดดัชนีความเชื่อมั่นฯ มี.ค. 63 ต่ำสุดในรอบ 28 เดือน ส.อ.ท. ชงมาตรการช่วยเหลือภาคเศรษฐกิจเพื่อสนับสนุนภาคสังคม
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมีนาคม 2563 อยู่ที่ระดับ 88.0 ปรับตัวลดลงจากระดับ 90.2 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 โดยค่าดัชนีฯ ต่ำสุดในรอบ 28 เดือน นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2560 ทั้งนี้ความเชื่อมั่นที่ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้ามีสาเหตุจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ภาครัฐประกาศปิดห้างสรรพสินค้า ร้านค้าและสถานที่ต่างๆ รวมทั้งการประกาศใช้ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อเพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมการแพร่ระบาดในประเทศ ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศลดลงต่อเนื่อง ทั้งการบริโภคสินค้าและบริการ ขณะที่ภาคธุรกิจประสบปัญหาในการดำเนินกิจการ อาทิ การผลิตและการจำหน่ายสินค้าลดลง รวมทั้งการขนส่งสินค้าและวัตถุดิบมีความล่าช้า ขณะเดียวกันปัญหาภัยแล้งที่รุนแรงขึ้นทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบในอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร และส่งผลให้กำลังซื้อในภาคเกษตรลดลง
จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,026 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมทั่วประเทศในเดือนมีนาคม 2563 พบว่า ผู้ประกอบการร้อยละ 67.3 มีความกังวลเกี่ยวกับสภาวะเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่อาจได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด – 19 ที่ขยายวงกว้างไปทั่วโลกส่งผลให้คำสั่งซื้อต่างประเทศลดลง และผู้ประกอบการร้อยละ 49.3 มีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศเพิ่มขึ้นเนื่องจากผู้ประกอบการกังวลเกี่ยวกับการออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่วนปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง ได้แก่ อัตราแลกเปลี่ยน (บาทต่อดอลลาร์) ในมุมมองผู้ส่งออก ร้อยละ 42.3 ราคาน้ำมัน ร้อยละ 31.7 และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ร้อยละ 18.8 ตามลำดับ
สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลง อยู่ที่ระดับ 96.0 โดยลดลงจาก 98.1 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 โดยค่าดัชนีต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2552 เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลต่อการประกอบกิจการใน 3 เดือนข้างหน้า หากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังไม่มีคลี่คลายจะส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องและการฟื้นฟูกิจการ
ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ประกอบด้วย 1.ให้ผู้ประกอบการนำค่าใช้จ่ายในการป้องกันการระบาดของไวรัสโควิด-19 มาหักภาษีได้ 2. เสนอให้ภาครัฐสนับสนุน อี-คอมเมิร์ซ แพลตฟอร์ม ของประเทศ เพื่อรองรับพฤติกรรมใหม่ของผู้บริโภค ภายหลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และ3. การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐให้สนับสนุนการซื้อสินค้าจากผู้ผลิตในประเทศ (เมด อิน ไทยแลนด์)