‘อีอีซี’ ดันอู่ตะเภาเป็นเมืองการบิน คาดลงนามได้ภายใน พ.ค.นี้

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ. หรือบอร์ดอีอีซี) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ครั้งที่ 2/2563 โดยมี นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ว่า การประชุมในครั้งนี้ ที่ประชุมฯได้มีการพิจารณาโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก ซึ่งจะนำมติที่ได้มีการพิจารณาในครั้งนี้ เข้าที่ประชุมกพอ. โดยเร็วที่สุด

ทั้งนี้ โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มีวัตถุประสงค์ที่จะพัฒนาเมืองการบินภาคตะวันออก ในพื้นที่ 6,500 ไร่ บริเวณสนามบินอู่ตะเภา โดยมี 6 กิจกรรมสำคัญ ได้แก่  1.อาคารผู้โดยสารหลังที่ 3, 2.ศูนย์ธุรกิจการค้าและการขนส่งภาคพื้นดิน, 3.ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน, 4.เขตประกอบการค้าเสรี และเขตธุรกิจเกี่ยวเนื่อง, 5.ศูนย์ธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศและโลจิสติกส์ และ6.ศูนย์ฝึกอบรมการบิน การลงทุนของโครงการรวมเป็นเงินลงทุนรวมประมาณ 290,000 ล้านบาท จากการศึกษาความเหมาะสมโครงการฯ ซึ่งรัฐจะได้ประโยชน์เพิ่มเติม คือ ได้ภาษีอากรเพิ่มมากกว่า 60,000 ล้านบาท ไม่นับรวมรายได้ภาษีทางอ้อมกับธุรกิจเชื่อมโยงนอกเมืองการบินภาคตะวันออก และทำเกิดการจ้างงานเพิ่ม 15,640 ตำแหน่งต่อปี ในระยะ 5 ปีแรก

สำหรับ ความสำคัญของเมืองการบินภาคตะวันออก อีอีซีวางยุทธศาสตร์ให้เมืองการบินภาคตะวันออก ทำภารกิจสำคัญ 3 ประการ คือ 1.เป็นสนามบินกรุงเทพฯ แห่งที่ 3 เชื่อมสนามบินดอนเมือง และสุวรรณภูมิ ด้วยรถไฟความเร็วสูง 2.เป็นศูนย์กลางการพัฒนาธุรกิจเป้าหมายโดยเฉพาะการเป็น ศูนย์กลางอุตสาหกรรม ท่องเที่ยว และโลจิสติกส์ด้านการบินของอีอีวี และ 3.เป็นศูนย์กลางของมหานครการบินภาคตะวันออก ที่จะครอบคลุมการพัฒนาพื้นที่เมือง ประมาณ 30 กิโลเมตร โดยรอบสนามบิน หรือระยะทางตั้งแต่เมืองพัทยา ถึง ตัวเมืองระยอง ส่วนขั้นตอนการลงนาม ขณะนี้ อยู่ระหว่างการพิจารณาของอัยการสูงสุด คาดว่าจะมีการลงนามในสัญญากับกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอสได้ภายในเดือนพฤษภาคมนี้

พลเรือตรีเกริกไชย วจนาภรณ์ เลขานุการคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมทุนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออก กล่าวว่า สำหรับกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส หรือกลุ่มบีบีเอส ประกอบด้วย บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน), บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นผู้เสนอผลประโยชน์สูงสุดในโครงการนี้ และคณะกรรมการคัดเลือกฯได้เห็นชอบผลการเจรจากับกลุ่มบีบีเอส โดยจะเสนอต่อคณะกรรมการอีอีซี และนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image