‘กรมชลฯ’​ สั่งโครงการชลประทานทุกแห่ง เตรียมเครื่องจักร พร้อมรับมือหน้าฝน

‘กรมชลฯ’​ สั่งโครงการชลประทานทุกแห่ง เตรียมเครื่องจักร พร้อมรับมือหน้าฝน

เมื่อวันที่ 27 เมษายน นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ครั้งที่ 16/2563 ผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอร์เร้นท์​ ว่า สั่งการไปยังสำนักงานชลประทานเครือข่าย ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ กรมชลประทานทั่วประเทศ เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำจากพื้นที่ต่างๆ และเตรียมพร้อมการบริหารจัดการน้ำฤดูฝนที่กำลังจะมาถึง

ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่า บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ในขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อน ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น ส่วนในช่วงวันที่ 28 เมษายน -​ 2 พฤษภาคม​ 2563 และหย่อมความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ส่งผลให้ประเทศไทยตอนบนบริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ยังคงมีฝนฟ้าคะนองบางพื้นที่

ขณะที่ สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศ ปัจจุบันมีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกันประมาณ 34,112 ล้านลูกบาศก์เมตร​ (ลบ.ม.)​ คิดเป็นร้อยละ 48 ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 10,798 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำรวมกัน 8,717 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 35 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 2,021 ล้าน ลบ.ม. ด้านผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งทั้งประเทศ ปัจจุบันมีการใช้น้ำไปแล้ว 16,694 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 94 ของแผนจัดสรรน้ำฯ เฉพาะในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำไปแล้ว 4,492 ล้าน ลบ.ม. เป็นไปตามแผนการจัดสรรน้ำฯที่ได้กำหนดไว้

สำหรับ ผลการเพาะปลูกข้าวนาปรังทั้งประเทศ เมื่อวันที่ 22 เมษายน มีการทำนาปรังไปแล้ว 4.21 ล้านไร่ เกินแผนฯไปแล้วร้อยละ 82 เก็บเกี่ยวแล้ว 2.79 ล้านไร่ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาไม่มีแผนการเพาะปลูกข้าวนาปรัง เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนมีไม่เพียงพอที่จะสนับสนุน แต่จากการสำรวจพบว่ามีการทำนาปรังไปแล้วประมาณ 1.98 ล้านไร่ เก็บเกี่ยวแล้ว 1.81 ล้านไร่ ส่วนใหญ่ใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่ของตนเองในการเพาะปลูก

Advertisement

อย่างไรก็ตาม กรมอุตุฯได้คาดการณ์ว่า ประเทศไทยจะเข้าฤดูฝนประมาณกลางเดือนพฤษภาคม 2563 และจะมีปริมาณฝนมากกว่าปี 2562 โดยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเกิดฝนฟ้าคะนองบางพื้นที่ ทำให้มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำรวมประมาณ 95 ล้าน ลบ.ม.

“กรมชลประทาน ได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทานทุกแห่ง ตรวจสอบอาคารชลประทานกว่า 18,000 แห่ง ให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมจัดเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ กระจายไว้ตามจุดเสี่ยงภัยต่างๆ รวมไปถึงการกำจัดวัชพืชไม่ให้กีดขวางทางน้ำ” นายทวีศักดิ์​กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image