“คอลิเออร์ส” คาดยอดใช้ห้องพักครึ่งปีแรกปีนี้หายไปกว่า 50% แนะรัฐเร่งออกมาตรการกระตุ้นหลังจบโควิด

“คอลิเออร์ส” คาดยอดใช้ห้องพักครึ่งปีแรกปีนี้หายไปกว่า 50% แนะรัฐหลังจบโควิดเร่งออกมาตรการกระตุ้น
นายภัทรชัย ทวีวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัท คอลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ธุรกิจท่องเที่ยวรวมถึงธุรกิจโรงแรมซึ่งถือว่าเป็นตลาดอสังหาริมทรัพย์ประเภทหนึ่งที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 ที่แพร่ระบาดหนักในประเทศจีนในช่วงที่ผ่านมา และอีกหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ซึ่งจากภาวะซบเซาของภาคธุรกิจท่องเที่ยว โดยเฉพาะตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หดหายจากการวิกฤตการณ์โรคระบาดดังกล่าว ทำให้ความต้องการเข้าใช้ห้องพักโรงแรมในประเทศไทยลดลงเป็นอย่างมาก และยังมีผลกระทบต่อรายได้จากการให้บริการสถานที่สำหรับงานเลี้ยงและงานประชุมต่างๆ เนื่องจากวิกฤตการณ์โรคระบาดดังกล่าวส่งผลให้ผู้ประกอบการเลื่อนการจัดกิจกรรมทุกกิจกรรมในช่วงนี้ ซึ่งทางแผนกวิจัยและการสื่อสาร คอลลิเออร์สฯ คาดการณ์ว่าผลกระทบจะรุนแรงมากขึ้นในช่วงเดือนมีนาคม – มิถุนายน ปี 2563 โดยจะส่งผลให้ยอดจองห้องพักรวมถึงรายได้จากค่าห้องพักใน่วงครึ่งแรกของปี 2563 อาจะหายไปมากกว่า 50% โดยผลกระทบดังกล่าวจะค่อนข้างส่งผลกระทบค่อนข้างสูงต่อธุรกิจโรงแรมทั้งโรงแรมขนาดเล็กและขนาดใหญ่เนื่องจากผู้ประกอบการจำเป็นต้องแบกรับต้นทุนในการประกอบธุรกิจที่ค่อนข้างสูงในขณะที่ยอดจองห้องพักเป็นศูนย์ในช่วงของการประกาศพระราชกำหนดการบริหาราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พรก.ฉุกเฉิน) ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 เป็นต้นมา ดังนั้นผู้ประกอบการควรเน้นบริหารจัดการการลดต้นทุนให้น้อยที่สุด เพื่อที่จะประคับประคองให้ธุรกิจสามารถเดินต่อไปได้ ไม่งั้นอาจต้องปิดกิจการ และเชื่อว่าหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 ในประเทศไทยมีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประเทศที่เป็นนักท่องเที่ยวหนักอย่างจีน เริ่มมีสัญญานบวก คือ เริ่มมีสายการบินในจีนติดต่อขอบินกลับเข้ามาประเทศไทยในเดือนพฤษภาคมนี้ แต่อย่างไรก็ตามรัฐบาลรวมถึงผู้ประกอบการเอง จำเป็นที่จะต้องมีมาตราการเตรียมพร้อมที่ดีสำหรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาหลังจากสถานการณ์ต่างดีขึ้น สำหรับผู้ประกอบการท่องเที่ยวเอง จะต้องเร่งปรับตัวโดยให้ความสำคัญกับสุขอนามัยรวมถึงมาตราการคัดกรองและดูแลด้านสุขภาพของนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามา รวมถึงเตรียมความพร้อมเรื่องบุคลากรและการปฎิบัติตัวหลังจากธุรกิจกลับมาเปิดบริการอีกครั้งเพื่อที่จะป้องกันไม่ให้การแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 กลับมารุนแรงอีกครั้ง

“สถานการณ์การท่องเที่ยวในปีพ.ศ. 2563 ยังคงเป็นปีที่ค่อนข้างท้าทายและยากลำบากเป็นอย่างมากสำหรับภาคการท่องเที่ยวของประเทศไทย เนื่องจากปัจจัยลบต่างๆ โดยเฉพาะ สถานการณ์ไวรัส Covid-19 นอกจากนี้ปัจจัยลบต่างๆ ที่คาดการณ์ว่าจะเข้ามากระทบต่อภาคการท่องเที่ยวในปีพ.ศ. 2563 เช่น การแข็งค่าของเงินบาท ข้อจำกัดเรื่องการรองรับของสนามบินหลักของไทย โดยคาดว่า ในปี 2563 ประเทศไทยอาจจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวรวมอยู่ที่ราว 1.40 ล้านล้านบาท ลดลงประมาณ 6 แสนล้านบาทหรือคิดเป็น 30.7% จากในปีก่อนหน้า และมีนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ประมาณ 28 ล้านคนเท่านั้น” นายภัทรชัยกล่าว

นายภัทรชัยกล่าวว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย ณ เดือน มีนาคม ปี 2563 พบว่า มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทยทเพียงแค่ประมาณ 819,429 ล้านคน ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทาเข้ามาในประเทศไทยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 ที่ผ่านเหลือเพีงแค่ 6,691,574 คนเท่านั้นจาก 10,795,246 ล้านคน ลดลงประมาณ 38.01% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และส่งผลให้รายได้จากการท่องเที่ยวในช่วงไตรมาสแรกของปี ลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 515,327.58 ล้านบาท เฉพาะรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติปรับลดลงถึง 40.39 % ซึ่งเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งถือว่าเป็นตลาดหลักของการท่องเที่ยวในประเทศไทย ปรับลดลงมากถึง 94.23% ซึ่งในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้ามาในประเทศไทยเพียงแค่ 56,852 คนเท่านั้น และคาดว่า ไทยอาจจะสูญเสียรายได้จากนักท่องเที่ยวจีนกว่า 3 แสนล้านบาท

นายภัทรชัยกล่าวว่า สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจโลกที่ถือว่ายังคงอยู่ในภาวะชะลอตัวเป็นอย่างมาก ส่งผลให้ประชาชนระมัดระวังในการใช้จ่าย ประกอบกับค่าเงินบาทที่ค่อนข้างแข็งค่าที่สุดในภูมิภาคนี้ ทำให้เงินที่นักท่องเที่ยวต่างชาติเคยแลกมาใช้จ่ายในไทยในมูลค่าเท่าเดิม แต่ในปีนี้จากบาทแข็งค่าส่งผลให้แลกเงินบาทได้ลดลงทันที 10-20% การมาเที่ยวในประเทศไทยจึงแพงขึ้นในสายตาต่างชาติ ขณะที่ภาพรวมการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศของคนไทยเติบโตราว 1% ซึ่งคนเลือกเที่ยวเมืองรองมากขึ้น และสร้างรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 3% จากมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว เช่น ชิม ช้อป ใช้และมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว 100 เดียวเที่ยวทั่วไทย

“อัตราการเข้าพัก (Occupancy Rate) เฉลี่ยทั่วประเทศในช่วงไตรมาสแรกของปี พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมาปรับลดมาอยู่ที่ 51.50% จาก 78.62% เท่ากับว่า ปรับลดลง 27.11% จากในช่วงไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า และเฉพาะในช่วงเดือนมีนาคม ปี 2563 ที่ผ่านมาอัตราการเข้าพัก (Occupancy Rate) เฉลี่ยทั่วประเทศ ตกลงมาเหลือเพียงแค่ 20.82% ปรับลดลงมากถึง 54.01% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า จากการปิดตัวลงของธุรกิจโรงแรมเป็นจำนวนมาก” นายภัทรชัยกล่าวและว่า ส่วนอัตราการเข้าพักทั้งปี 2563 คาดว่า จะปรับลดลงจากปี 2562 ที่ผ่านมาประมาณ 40% เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยยังคงอยู่ในภาวะชะลอตัว บวกกับค่าเงินบาทที่แข็งค่าเป็นอย่างมาก และสถานการณ์ไวรัส Covid-19
แต่จากสถานการณ์การควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ของประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมาที่ค่อนข้างได้รับคำคมจากนานาประเทศทั่วโลกว่า มีการรับมือกับการแพร่ระบาดรวมถึงมีมาตราการดูแลรักษาผู้ที่ติดเชื้อไวรัสดังกล่าวได้เป็นอย่างดี อาจส่งผลให้หลายประเทศมองว่า ประเทศไทยยังคงที่ปลอดภัยของพวกเขาและยังคงน่าท่องเที่ยวหากสถานการณ์ดีขึ้น และเมื่อถึงเวลานั้นรัฐบาลควรออกมาตราการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวทั้งตลาดนักท่องเที่ยวในประเทศรวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติให้ออกมาท่องเที่ยวหรือเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ตลาดท่องเที่ยวในประเทศไทยรวมถึงธุรกิจโรงแรมกลับมาคึกคักอีกครั้งในช่วงครึ่งหลังของปี

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image