‘กรมชลฯ’ หวั่นปรากฏการณ์ลานีญาทำน้ำท่วมสลับแล้ง

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า วันที่ 30 เมษายนนี้ คือวันสุดท้ายของแผนบริหารจัดการน้ำในฤดูแล้ง คาดว่ากรมอุตุนิยมวิทยาจะประกาศเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤษภาคม โดยปีนี้กรมอุตุฯคาดการณ์ว่าฝนจะตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ย 30 ปี ที่ 5% แต่ฝนจะทิ้งช่วงปลายพฤษภาคม-มิถุนายน และเข้าสู่ ปรากฏการณ์ลานีญา ในช่วงกรกฎาคม-สิงหาคม ฝนจะตกชุกในระบบปานกลาง ส่งผลให้อาจมีน้ำท่วมบ้างในบางพื้นที่ และ 1 พฤศจิกายน 2563 จะมีปริมาณน้ำในเขื่อนทั่วประเทศมากกว่า ปี 2562 แต่ช่วงนี้เริ่มมีฝนตกบ้างในบางพื้นที่ เริ่มตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน ทำให้มีน้ำไหลลงเขื่อนประมาณ 121 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)

ทั้งนี้ แม้จะมีน้ำท่วมในบางพื้นที่ที่มีฝนตก แต่กรมชลประทานยังกังวล ว่า 59 จังหวัดทั่วประเทศ ยังเสี่ยงการขาดน้ำอุปโภคบริโภค ส่วนแผนการบริหารจัดการน้ำช่วงฤดูแล้ง ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2562-30 เมษายน 2563 โดย ข้อมูล เมื่อวันที่ 29 เมษายน ผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 2562/63 ทั้งประเทศ มีแผนการจัดสรรน้ำ 17,699 ล้าน ลบ.ม. จัดสรรน้ำไปแล้ว 16,873 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 95% ของแผนฯ โดยลุ่มเจ้าพระยา แผนการจัดสรรน้ำ 4,500 ล้าน ลบ.ม. จัดสรรน้ำไปแล้ว 4,544 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 101% ของแผน หรือเกินแผน 44 ล้านลบ.ม. เนื่องจากมีการจัดสรรน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศ และไล่น้ำเค็ม

สำหรับ แผนและผลการเพาะปลูกข้าวนาปรังปี 2562/63 ในเขตชลประทานทั้งประเทศ มีแผนเพาะปลูกข้าวนาปรัง 2.31 ล้านไร่ เพาะปลูกแล้ว 4.21 ล้านไร่ คิดเป็น 82.11% ของแผนฯเก็บเกี่ยวแล้ว 2.79 ล้านไร่ ใน ลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยแผนเพาะปลูกข้าวนาปรัง หลังมีการรณรงค์งดทำนาต่อเนื่องในฤดูแล้ง ปี 2562/63 มีการเพาะปลูกแล้ว 1.98 ล้านไร่ เก็บเกี่ยวแล้ว 1.81 ล้านไร่

ขณะที่ สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศจำนวน 447 แห่ง มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 35,574 ล้าน ลบ.ม. หรือ 47% ของความจุอ่างฯ ปริมาณน้ำใช้การได้ 11,891 ล้านลบ.ม.หรือ 23% ของความจุน้ำใช้การ อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำใช้การน้อยกว่าหรือเท่ากับ 30% ของความจุอ่าง จำนวน 25 แห่ง อาทิ ภูมิพล สิริกิติ์ แม่งัดสมบูรณ์ชล แม่กวงอุดมธารา กิ่วคอหมา แควน้อยบำรุงแดน แม่มอก และประแสร์ เป็นต้น ส่วนสถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา ได้แก่ เขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยฯ และป่าสักฯ ปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 8,684 ล้าน ลบ.ม. หรือ 35% ของความจุอ่างฯ เป็นปริมาณน้ำใช้การได้ 1,988 ล้าน ลบ.ม. หรือ 11% ของความจุน้ำใช้การ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image