รมว.พาณิชย์ เผยทิศทางสินค้าเกษตร เดินหน้าใช้โครงการ “ไทยช่วยไทย ชาวสวนอยู่ได้ ประเทศไทยอยู่รอด” ฝ่าวิกฤติโควิด-19

      การระบาดของโรคโควิด-19 ได้สร้างแรงกดดันต่อทุกภาคส่วน หนึ่งในนั้นคือกลุ่มชาวสวน ที่ต้องเผชิญทั้งการฉุดราคาสินค้าเกษตรให้ต่ำลง ปัญหาการขนส่งจากความเข้มงวดในการสกัดการระบาด การเข้าถึงการกระจายสินค้าในช่วงเวลาที่มีการปิดเมืองอย่างที่กำลังเกิดขึ้นในเวลานี้

      “เกษตรกรน้ำตาร่วง” วิฤกตหนักกว่าทุกปี ผลไม้สดจำนวนมากได้รับผลกระทบจากความล่าช้าในการส่งไปยังตลาดทั้งในและต่างประเทศ ทั้งนี้ ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นเช่นไร กระทรวงพาณิชย์พร้อมที่จะรับมือและช่วยเหลือเกษตรกรต่อเนื่อง

      โดยช่วงเช้า 30 เมษายนที่ผ่านมา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์  ได้แถลงข่าวผ่าน Facebook Live ของกระทรวงพาณิชย์ ถึงแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรของกระทรวงพาณิชย์ แผนและภารกิจในการกระจายผลไม้ทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงช่องทางการจำหน่ายผลไม้ออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มพันธมิตร ภายใต้โครงการ “ไทยช่วยไทย ชาวสวนอยู่ได้ ประเทศไทยอยู่รอด”

Advertisement

      นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เปิดเผยว่า ปีนี้เป็นห่วงกันว่าผลไม้จะออกมากเป็นพิเศษ ซึ่งตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา ได้มีการหารือร่วมกับเกษตรกรผู้ปลูกผลไม้ ล้ง สหกรณ์การเกษตรกร ผู้แปรรูป ผู้ส่งออกผลไม้ไทย ทั้งหมดที่จันทบุรี เพราะจากการประเมินเบื้องต้นว่าในปีนี้จะมีสินค้าเกษตรรวมทั้งหมดถึง 300 ล้านตัน ซึ่งก็ได้มีการทบทวนมาตรการอยู่หลายรอบ เพื่อให้รับกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

      “ก่อนหน้านี้ ได้ช่วยผลไม้ฤดูกาลผลิตที่แล้วโดยเปิดโอกาสให้ผู้โดยสารที่สำรองที่นั่งในเส้นทางบินในประเทศ สามารถหิ้วผลไม้ขึ้นเครื่องได้คนละไม่เกิน 20 kg ฟรี แต่ตอนนี้สนามบินปิดหมด ดังนั้น มาตรการต้องยกเลิก ทบทวนมาตรการกันใหม่ทั้งหมด โดยเปลี่ยนมาเป็นรูปแบบการค้าออนไลน์ ซึ่งก็ได้กำหนดมาตรการร่วมกันกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในรูปแบบเกษตรผลิต พาณิชย์การตลาด ทำควบคู่กันไป และขณะนี้มีการดำเนินการจัดแผนงานช่วยเหลือทุกกลุ่มครบวงจรการผลิตและการตลาด เริ่มต้นจากการช่วยชาวสวน เช่น ไปรับรองสวนโดยกรมวิชาการเกษตร โดยจัดงบไปให้รับรองเร็วขึ้น แรงงานเก็บผลไม้ที่จะต้องข้ามเขตจังหวัด ก็ช่วยบริหารจัดการให้จนกระทั่งสามารถดำเนินการได้ หรือมีวิธีเก็บผลไม้ไม่เกิดความเสียหาย เป็นต้น รวมไปถึงมีมาตรการช่วยล้ง จัดงบ 40 ล้านบาท ช่วยล้งรวบรวมผลไม้กิโลกรัมละ 3 บาท ช่วยชดเชยดอกเบี้ยให้ 3% เป็นเวลา 6 เดือน เพื่อให้ได้รับการรวบรวมจากชาวสวนไปจนกระทั่งถึงการส่งออกครบวงจร

      เรียกได้ว่าช่วยอุดรอยรั่วทุกอย่าง อำนวยความสะดวกให้กับเกษตรกรทุกๆ ทิศทาง ซึ่งนายจุรินทร์ ได้เปิดเผยถึงมาตรการล่าสุดภายใต้โครงการ “ไทยช่วยไทย ชาวสวนอยู่ได้ ประเทศไทยอยู่รอด” ว่า ได้มีการตั้งเป้าหมายชัดเจนในทางยุทธศาสตร์ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ที่จะทำทั้งตลาดออฟไลน์และตลาดออนไลน์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ 

Advertisement

ตลาดออฟไลน์ในประเทศ-ต่างประเทศ

      แนวทางของตลาดออฟไลน์ในประเทศต่อจากนี้ พาณิชย์จังหวัดต้องทำหน้าที่เป็น เซลส์แมน จังหวัด ช่วยขายผลไม้และพืชผลการเกษตรทั้งหมดให้กับเกษตร โดยวิธี 1.ถ้าจังหวัดไหนผลไม้ออกมาก พาณิชย์จังหวัดต้องจัดโมบายมาร์เก็ตติ้ง ตลาดชั่วคราว จัดตลาดนัดเฉพาะกิจขายผลไม้ ทำโปรโมชั่นให้คนมาช่วยซื้อผลไม้ในจังหวัดของตัวเอง 2.พาณิชย์จังหวัดต้องทำหน้าที่พบปะกับสหกรณ์ ล้ง และจับคู่ธุรกิจ ซึ่งขณะนี้ก็ได้มีคำสั่งซื้อเฉพาะผลไม้ทั่วประเทศรวมกัน 300 กว่าล้านบาทแล้ว และ3.เดินหน้าขยายเครือข่ายผู้ประกอบการรถเร่หรือรถพุ่มพวง

      ส่วนตลาดออฟไลน์ต่างประเทศ หัวใจสำคัญที่สุดที่ภาคเอกชนรอคอยอยู่ขณะนี้ คือ ตลาดจีน ซึ่งที่ผ่านมาเราติดปัญหาเรื่องด่าน ที่ต้องข้ามแดนลาว แดนเวียดนาม รวม 2 ด่าน โดยภาคเอกชนอยากเห็นการเปิดด่าน เพื่อจะได้ส่งสินค้าเกษตรจากไทยเข้าจีนตอนใต้ได้สะดวกขึ้น 

      เราได้เจรจาร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และทางการจีน ปรากฏว่าตอนนี้สัมฤทธิ์ผลแล้ว จีนเปิดด่านเพิ่มให้เรา 2 ด่าน เริ่ม 30 เมษายน 2563 เป็นวันแรก ประกอบด้วยด่านรถไฟผิงเสียง กับ ด่านตงซิง เมื่อ 2 ด่านนี้เปิดได้ ถัดจากนี้คาดการณ์ว่าผลไม้ไทยจะทะลุทะลวงจากไทยผ่านเวียดนาม ข้ามไปขายจีนตอนใต้และกระจายไปประเทศอื่นได้ เหมือนเปิดลมหายใจให้กับเกษตรกรไทยได้อย่างเป็นรูปธรรม 

ช่วงเวลาทองของตลาดออนไลน์

      ขณะนี้เราได้รับความร่วมมืออย่างดีจาก 8 แพลตฟอร์มที่มีชื่อเสียง ประกอบด้วย Thailandpostmart, Shopee, Lazada,  JD Central, Jatujakmall, Cloudmall The Hub Thailand และ Octorocket.asia ในการสนับสนุนและช่วยเหลือเกษตรกรไทยผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ด้วยการส่งเสริมช่องทางออนไลน์สำหรับจำหน่ายสินค้าการเกษตรเพื่อการส่งออก ผลไม้สดเกรดพรีเมียม คุณภาพส่งออก ที่หลายสวนไม่สามารถส่งออกไปขายยังตลาดในต่างประเทศได้เต็มที่ดังเช่นทุกปีที่ผ่านมา ซึ่งจะจัดทำโปรโมชั่นขายในราคาไทยตั้งแต่ 1 พฤษภาคม ไปจนถึง 30 มิถุนายน 2563

      ขณะที่ตลาดออนไลน์ในต่างประเทศ ก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากแพลตฟอร์มที่มีชื่อเสียงของแต่ละประเทศ ขยายตลาดสินค้าไทยในต่างประเทศผ่านร้าน TOPTHAI Flagship Store บนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในตลาดเป้าหมาย อาทิ อเมซอนในตลาดสหรัฐฯ ทีมอลในตลาดจีน คลังไทยในตลาดกัมพูชา และบิ๊กบาสเก็ตในตลาดอินเดีย เป็นต้น

      “บนแพลตฟอร์มออนไลน์เราไม่ได้ทำแค่เพียงเท่านี้ เรามีการปรับรูปแบบ ปกติการค้าขายโดยกระทรวงพาณิชย์ในการส่งสินค้าไปต่างประเทศ เราจะจัด Business matching คือการจับคู่การค้าทางธุรกิจ จัดเวทีที่ประเทศไทย แล้วเชิญผู้นำเข้าจากต่างประเทศมาพบปะกัน มีการทำสัญญาซื้อขายเวลานั้น แต่ในสถานการณ์ตอนนี้ไม่สามารถทำได้ เลยต้องปรับรูปแบบเป็นการจับคู่ออนไลน์แทน เราก็อยู่ในประเทศเป็นผู้ส่งออก สำหรับคู่ค้าในต่างประเทศเราเจรจากันโดยผ่าน Video conference ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา เราเจรจาการส่งออกมะม่วงกับประเทศเกาหลี ปรากฏว่าเราสามารถขายมะม่วงให้กับเกาหลีได้ 3,200 ตัน คิดเป็นมูลค่า 480 ล้านบาท คนที่ขายคือเกษตรกรโดยตรงในรูปแบบกลุ่มเกษตรกร

      “นี่คือสิ่งที่กระทรวงพาณิชย์ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการค้าออนไลน์จากการพบกันโดยตรง และได้ผลสัมฤทธิ์เช่นเดียวกัน แผนต่อไปคือการจับคู่ธุรกิจกับอีกหลายประเทศ เช่น ใน 7 พฤษภาคมนี้ จะมีการเจรจากับเกาหลีอีกรอบ หลังจากนั้นจะเจรจากับมาเลเซีย ในเดือนมิถุนายนก็มีแผนเจรจากับทางอินเดีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อิยิปต์ เพื่อระบายผลไม้ไทยไปยังต่างประเทศผ่านระบบ Business matching แบบออนไลน์”

      เป็นความหวังว่าจะช่วยให้ผลไม้ไทยระบายไปต่างประเทศได้คล่องขึ้น แม้เราจะเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 ภายใต้แนวคิดที่ร่วมกันว่า จะช่วยกันระหว่างรัฐกับเอกชน จับมือพลิกโควิด-19 เป็นโอกาสสำหรับเกษตรกรไทยต่อไปในอนาคต

      ระหว่างนี้ก็อย่าลืมช่วยกันอุดหนุนผลไม้ไทยผ่านทั้ง 7 แพลตฟอร์มกันด้วยนะ ช่วยกันซื้อ ช่วยกันบริโภค ก็เท่ากับได้ช่วยเกษตรกรผู้ปลูกผลไม้ด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image