เฉลียงไอเดีย : ‘อัคคี’ร้านอาหารไทยแกล้มคราฟต์เบียร์ ไม่หยุดแค่ไทย…ปักหมุดสร้างชื่อซานฟรานซิสโก

เฉลียงไอเดีย : ‘อัคคี’ร้านอาหารไทยแกล้มคราฟต์เบียร์ ไม่หยุดแค่ไทย...ปักหมุดสร้างชื่อซานฟรานซิสโก
ร้าน AKKEE (ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊ก AKKEE)

4 เพื่อนซี้เด็กนนท์และโคราช ขอฝันไกล…ไปถึง
ปั้น‘อัคคี’ร้านอาหารไทยแกล้มคราฟต์เบียร์
ไม่หยุดแค่ไทย…ปักหมุดสร้างชื่อซานฟรานซิสโก

แม้ว่าในห้วงเวลานี้เกือบทุกประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยยังเผชิญกับการแพร่ระบาดของเชื้อโรคอุบัติใหม่ หรือไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 “โควิด-19” จนกิจการทุกอย่างหยุดชะงัก ผู้คนต้องเว้นระยะห่างกัน ห้ามสังสรรค์ เพื่อป้องกันเชื้อแพร่กระจาย ซึ่งแม้ว่าสถานการณ์ดูเหมือนเริ่มจะคลี่คลายในหลายประเทศ รวมถึงไทยแล้ว ที่เริ่มคลายมาตรการล็อกดาวน์ ให้กิจการบางประเภท รวมถึงร้านอาหารกลับมาเปิดกิจการได้อีกครั้งอย่างมีกฎ-กติกา ป้องกันไม่ให้โควิด-19 กลับมาระบาดครั้งใหม่!

วันนี้จึงขอนำเสนอเรื่องราวของกลุ่มเพื่อนซี้ที่ทำตามความฝัน… เปิดร้านอาหารแกล้มคราฟต์เบียร์ “อัคคี”

โบว์
อู๋

โบว์-สุชญา วรรณลักษณ์, อ้น-ธีรพล ยั่งยืน และ อู๋-สิทธิกร จันทป คือ 3 เพื่อนซี้ที่โตและเรียนมาด้วยกันในละแวกนนทบุรีตั้งแต่เล็กๆ จนจบชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี ก่อนจะแยกย้ายไปเรียนตามแผนและสิ่งที่ถนัด

Advertisement

โบว์ เรียนจบสถาปัตยกรรมออกแบบนิเทศศิลป์ มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี ปัจจุบันทำธุรกิจโปรดักชั่นของตัวเองที่ร่ำเรียนมา ก่อตั้งบริษัท Broduction House

 

อ้น
ซีน

ส่วน อ้น จบปริญญาตรีคณะนิเทศศาสตร์สาขาวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และการผลิตสื่อสตรีมมิ่ง และปริญญาโท ด้านการบริหารธุรกิจบันเทิงและการผลิต มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ปัจจุบันทำงานด้านการตลาด ตำแหน่ง Senior Marketing Executive ที่บริษัทสื่อใหญ่แห่งหนึ่ง

Advertisement

ขณะที่ อู๋-สิทธิกร เรียนจบจากโรงเรียนสอนการประกอบอาหาร เลอ กอร์ดอง เบลอ ดุสิต เมเจอร์บริหารธุรกิจ และเมเจอร์ Kitchen&Restaurant

 

และเพื่อนซี้คนสุดท้ายมาไกลจากโคราช ซีน-อริศรา รัตนะคุณชัย จบและเป็นบัดดี้กับอู๋ จากเลอ กอร์ดอง เบลอ ดุสิต เมเจอร์เดียวกัน เรียนทั้งการบริหารและเป็นเชฟ

4 เด็กไฟแรงในวัย 27-28 ปี ได้ร่วมกันเปิดร้าน “อัคคี” หรือ “AKKEE” ร้านอาหารไทยแท้ๆ รับประทานคู่กับคราฟต์เบียร์ (Craft Beer) บนถนนเลี่ยงเมืองปากเกร็ด จ.นนทบุรี

จุดเริ่มของร้านแห่งนี้ แน่นอนว่าเกิดจาก 4 หุ้นส่วน แต่คนจุดประกายจนเกิด “อัคคี” คือ เชฟอู๋ ที่มีรสนิยมการดื่มคราฟต์เบียร์ โดยอ้นและโบว์เล่าที่มาที่ไปของร้านแห่งนี้ ระหว่างที่เชฟอู๋และเชฟซีน กำลังวุ่นวายอยู่ในครัวที่ดีไซน์เป็นห้องกระจก เปิดให้ลูกค้าเห็นทุกขั้นตอนการทำอาหารก่อนจะมาเสิร์ฟที่โต๊ะ

บรรยากาศครัวในร้านอัคคี ที่เป็นกระจกใสรอบทิศให้ลูกค้าได้เห็นวิธีการปรุงอาหาร

พวกเรามีโปรเจ็กต์จะทำร้านอัคคี ตั้งแต่ยังไม่จบมหาวิทยาลัย เพราะอู๋มักจะพาเราไปตระเวนดื่นเบียร์คราฟต์ในประเทศต่างๆ หาประสบการณ์คราฟต์เบียร์ที่บางชนิดยังไม่มีการนำเข้ามาที่ไทย จนเปิดร้านขายเบียร์และกาแฟที่เมืองทองธานี คือร้าน BITTER : bottle shop เมื่อราว 2-3 ปีก่อน ขายแต่เครื่องดื่มและกับแกล้มที่ทำง่ายๆ เนื่องจากขนาดพื้นที่เล็กมากไม่อำนวยให้ทำครัวได้ จึงเกิดประกายไอเดียทำร้าน “อัคคี”

ร้านอัคคี คือร้านอาหารไทยแท้ๆ ที่มีเครื่องดื่มชูธงของร้าน คือคราฟต์เบียร์นำเข้าจาก 10 ประเทศ รวม 14 ชนิด ที่เจ้าของร้านคัดสรรมาให้ชิมแบบไม่ซ้ำ จุดเด่นที่นอกจากจะเป็นคราฟต์เบียร์ที่หาชิมยากในไทยแล้ว ยังมีเบียร์เปรี้ยวที่คนไทยอาจไม่ค่อยรู้จัก ซึ่งโบว์บอกว่าไว้เสิร์ฟผู้หญิงซึ่งบางคนไม่ชอบเบียร์ลาเกอร์ที่คุ้นลิ้นคนไทย จะมีรสขม-ซ่า ทำให้ที่ร้านมีลูกค้าผู้หญิงเปิดใจกับเบียร์มากขึ้น เพราะเบียร์เปรี้ยวเป็นการผสมระหว่างผลไม้ อย่างแอปริคอตกับพีช, ฝรั่ง, มะม่วง ช่วยให้กลิ่นเบียร์หอมและละมุน

หัวจ่ายคราฟต์เบียร์ในร้านอัคคี รวม 14 รสชาติ

อีกสิ่งหนึ่งของที่ร้านที่ดูต่างไปจากทุกที่ คือไม่มีเด็กมาคอยรับออเดอร์ที่โต๊ะอาหาร แต่จะให้ลูกค้าเดินมาที่เคาน์เตอร์เพื่อสั่งอาหารและจ่ายเงิน ก่อนจะเลือกที่นั่งเพื่อรออาหารและเครื่องดื่ม ได้รับคำตอบว่าเพราะทุนการทำร้านอัคคี เป็นการทุบหม้อข้าวของหุ้นส่วนทั้ง 4 คน ไม่มีใครขอเงินพ่อ-แม่มาทำร้าน จึงเป็นการช่วยกันทำ มีเพียงเบียร์เทนเดอร์คนเดียวที่เป็นพนักงานประจำร้าน คอยอธิบายและแนะนำเบียร์ชนิดต่างๆ ให้ลูกค้า รวมถึงทำหน้าที่อื่นๆ ในร้านเช่นเดียวกับทุกคนในร้าน แม้แต่เชฟก็ต้องเสิร์ฟอาหารให้ลูกค้าด้วย!

ตัวหลักของร้านอัคคี จะเป็นอู๋และซีน เพราะโบว์และอ้นมีงานประจำ ซึ่งเรื่องนี้ไม่ได้เป็นปัญหาของ 4 หุ้นส่วนแต่อย่างใด

เชฟอู๋ที่เริ่มว่างจากงานในครัว กล่าวยืนยันหนักแน่นว่า “เป็นเรื่องที่คุยกันตั้งแต่ต้น เคลียร์ทุกปัญหาจึงไม่มีเรื่องติดค้างในใจในภายหลังแน่นอน”

โบว์กล่าวเสริมว่า อัคคีเพิ่งเปิดร้านได้ไม่กี่เดือน เป็นช่วงเริ่มต้นร้าน เราอยากเข้ามามีส่วนร่วมมากที่สุดจนวันหนึ่งพูดได้เต็มปากว่านี่คือร้านของเรา

ทุกครั้งที่โบว์และอ้นเลิกจากงานประจำก็จะมาลงตำแหน่งที่ร้านอัคคีซึ่งเปิดร้านทุกวัน 4 เพื่อนซี้จึงไม่มีวันพัก แต่ทุกคนไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อย โดยเฉพาะโบว์และอ้นตอบตรงกันว่า การมา “อัคคี” มาช่วยเตรียมอาหาร เด็ดผัก หั่นโน่นนี่ ถือเป็นความสุข เป็นวิธีคลายเครียดจากงานที่บริษัทได้

หันมาดูการตกแต่งร้านให้ความรู้สึกเหมือนนั่งร้านอาหารแถวทองหล่อ น่าจะถูกจริตคนเมืองมากกว่าชานเมือง แต่โบว์บอกว่า เป็นความตั้งใจอยากให้สิ่งนี้เกิดขึ้นในละแวกบ้าน มีร้านอาหารที่ดี เบียร์ดี ส่วนการตกแต่งร้านก็เป็นหุ้นส่วนทั้งหมดที่ร่วมกันดีไซน์ตามงบที่มีจำกัด

ส่วนอ้นรับว่าคิดเหมือนกันว่าทำเลใช่หรือไม่ แต่สุดท้ายเปลี่ยนมุมคิดใหม่ “ก็เปลี่ยนโซนนี้ไปเลย ทำร้านอาหารที่คนในเมืองไม่มี อยากเป็นเบอร์หนึ่งของนนทบุรี ดึงคนปากเกร็ด ปทุมฯ นนท์ มองร้านอัคคีเป็นร้านที่ดีที่สุดในย่านนนทบุรี”

อ้นยังให้ความรู้อีกข้อว่า นนทบุรีถือเป็นเมืองคนต้มเบียร์ของไทย อย่าง “จ่าพิชิต” ที่เกาะเกร็ด ถือเป็นคนริเริ่มต้มเบียร์แรกๆ ของเมืองไทย และยังมี “ฟาร์มเทพพนม” ก็อยู่ที่ จ.นนทบุรี ถือเป็นแห่งแรกในไทยที่ปลูกฮอปส์ ทำโรงฮอปส์ ต้มเบียร์เอง “เมืองนนท์จึงเหมือนเมืองทำเบียร์ แล้วจะเปิดที่อื่นทำไมในเมื่อมี Brewer (คนต้มเบียร์) อยู่ที่นี่อยู่แล้ว”

อ้นบอกอีกว่า ตอนนี้มีโปรเจ็กต์ที่คิดจะทำต่อ อยากทำอีเวนต์ เบียร์เฟสติวัล ที่นนท์ยังไม่มีใครทำ อยากให้เป็นภาพจำ เป็นจุดขายใหม่ของจังหวัด แต่คงต้องใช้เวลาและต้องรอจังหวะเวลาที่พร้อมก่อน

ถามถึงแนวคิดอาหารไทยกับการดื่มเบียร์ จะไปด้วยกันได้หรือไม่ โบว์บอกว่า เบียร์เปรี้ยวจะช่วยชูกลิ่นอาหารหรือช่วยดับกลิ่นอาหารบางอย่างได้ และยังช่วยเพิ่มรสอาหาร “เช่น เมื่อดื่มเบียร์ตามหลังกินสะตอ เบียร์จะช่วยล้างกลิ่นแรงๆ ของสะตอ คำต่อไปจะได้อโรมาในเนื้อมากขึ้น มันจุนเจือกัน”

โบว์บอกว่า ร้านอัคคีถือเป็นการต่อยอดจากร้าน BITTER ที่เน้นขายคราฟต์เบียร์เป็นหลัก แต่ร้านอัคคีคือสุนทรีย์ของการกินและดื่ม ผ่านการรังสรรค์โดยเชฟอู๋และเชฟซีน เมนูร้านอัคคีที่เป็นอาหารไทยพื้นบ้าน มาจากอู๋เป็นหลัก ที่เปลี่ยนแนวคิดจากคนหัวนอกจ๋าของตัวอู๋เอง เคยอินอาหารแบบ Avant-Garde อาหารแนวล้ำๆ อาร์ตๆ มาเป็นอาหารไทยแท้ๆ จุดคลิกที่ทำให้อู๋หันมาสนใจอาหารไทยอย่างจริงจัง คือช่วงฝึกงานร้านอาหารไทยชื่อดังที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เพราะอู๋คิดได้ว่าเป็นคนไทยทำไมไม่สนใจอาหารไทย ตั้งแต่นั้นมาก็สนใจอาหารไทยแท้ๆ อย่างจริงจัง!

เมนูของอัคคีจึงไม่ใช่อาหารไทยฟิวชั่น แต่เป็นอาหารไทยพื้นบ้านดั้งเดิมในแบบอัคคี คือมีความเป็นอาหารที่ทำทานในบ้าน แต่จะพิถีพิถันในกรรมวิธีที่เชฟได้แรงบันดาลใจมาจากการอ่านหนังสือตำรับไทย พิถีพิถันถึงขนาดของที่ใช้ในครัวจะเลี่ยงอุปกรณ์ไฟฟ้า จะมีเพียงหม้อหุงข้าว และตู้เย็นเท่านั้น แม้แต่เตาก็ใช้เตาถ่าน ผสมกับวิชาความรู้ที่เรียนมาจากสถาบันเลอ กอร์ดอง เบลอ ดุสิต เช่น เนื้อย่างของอัคคีจะผ่านการ Dry-aged ในรูปแบบของอัคคี แต่วัตถุดิบทุกชนิดจะใช้ของที่ผลิตจากไทย ซึ่งรวมถึงภาชนะที่ใช้มาจากเกาะเกร็ดทั้งหมด เพื่อบ่งบอกความเป็นไทยของร้านนี้ จนทำให้สัดส่วนลูกค้าในร้านจากเดิม 4 พาร์ตเนอร์คาดว่าจะอยู่ในช่วงอายุ 20-35 ปี กลายเป็นมีกลุ่มผู้ใหญ่เข้ามาแจมเพิ่มมากขึ้น “ประทับใจลูกค้า เริ่มจากลูกค้ากลุ่มเด็กวัยรุ่นก่อน มาดื่มเบียร์ แล้วพาพ่อ-ปู่-ตา มากินอาหารที่ร้าน กลายเป็นรุ่นใหญ่ประทับใจอาหาร ส่วนลูกแฮปปี้กับเบียร์” โบว์กล่าวยิ้มอย่างสุขใจ

ซีนขอขยายความชื่อร้าน “อัคคี” มาจากมติเอกฉันท์จากเพื่อนๆ ที่เห็นว่าเมื่อชูความเป็นไทยก็ต้องชื่อไทยๆ อัคคี แปลว่า ไฟ ซึ่งคือหัวใจของการทำอาหาร เป็นเทคโนโลยีแรกที่เปลี่ยนสถานะจากของดิบเป็นของกินได้ และยังเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยฆ่าแบคทีเรียเช่นเดียวกับเบียร์ที่ผ่านกรรมวิธีการต้ม

โบว์เสริมว่า อัคคี (Akkee) ยังเล่นคำได้ 2 ความหมาย นอกจากคือไฟแล้ว แปลได้ว่า คือใจความสำคัญ

ส่วนซิกเนเจอร์ของอัคคี เชฟอู๋บอกว่า พูดไม่ได้ว่าเมนูไหนคือซิกเนเจอร์ เพราะทุกจานเราตั้งใจทำเองด้วยมือ แทบไม่มีอุปกรณ์ไฟฟ้าช่วยเลย ขณะที่เชฟซีนสรุปได้เห็นภาพ ซิกเนเจอร์ของ “อัคคี” คือรสชาติ จัดจ้าน ถึงพริกถึงขิง

คำถามสุดท้าย วางเป้าร้านอัคคียังไง โบว์เป็นตัวแทนของทุกคน เฉลยว่า แอบมีเป้าไกลและใหญ่ แต่ไม่เกินเอื้อม อยากไปตั้งร้านที่ซานฟรานซิสโก ตั้งใจว่าอยากรักษาอาหารไทยโบราณ แต่แค่รักษาไม่พอ ต้องเผยแพร่ด้วย

นี่คือแนวคิดของเด็กไทยในวัย 28 ปี ที่สมควรคารวะ!

แต่ฝันนี้ต้องพักไว้ชั่วคราว เนื่องจากมีโจทย์ใหญ่ที่ไม่คาดคิดมาก่อน คือการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้ทุกอย่างแทบหยุดชะงัก แต่เด็กทั้ง 4 คน มีสติตั้งรับกับสถานการณ์ ปรับเปลี่ยนรูปแบบทันที คือรับออเดอร์ดิลิเวอรี ผ่านหน้าเพจเฟซบุ๊กของอัคคี ส่วนคราฟต์เบียร์ที่สั่งมาจำหน่ายที่ร้านปรับเป็นแบบใส่ขวด ได้รับการตอบรับดีจากลูกค้าสั่งซื้อหมดตั้งแต่ช่วงแรกๆ ก่อนที่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินจะมีผลบังคับใช้ ร้านอัคคีจึงไม่มีต้นทุนที่ต้องแบกรับ ขณะที่เมนูอาหารไทยได้รับการตอบรับดี

โบว์บอกว่า แม้ว่ารัฐบาลผ่อนปรนให้ร้านอาหารสามารถเปิดร้านได้ โดยยังคงต้องมีการเว้นระยะห่าง และห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มมึนเมา แต่ร้านอัคคีจะยังไม่เปิดบริการหน้าร้าน ยังคงเปิดช่องทางดิลิเวอรีเท่านั้นไปอีกสักระยะ จนแน่ใจว่าโควิด-19 หยุดระบาดแล้วจริง

ส่วนฝันไกลไม่เกินเอื้อม “อัคคี ณ ซานฟรานซิสโก” ก็ยังเป็นเป้าหมายต่อไป ตามที่ตั้งใจแน่นอน!

เกษมณี นันทรัตนพงศ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image