คิดเห็นแชร์ : ‘นิวนอร์มอล’ โอกาสของธุรกิจและอุตสาหกรรมไทย

คิดเห็นแชร์ : ‘นิวนอร์มอล’ โอกาสของธุรกิจและอุตสาหกรรมไทย

คิดเห็นแชร์ : ‘นิวนอร์มอล’ โอกาสของธุรกิจและอุตสาหกรรมไทย

สวัสดีแฟนๆ คิด เห็น แชร์ ทุกท่านครับ…เดือนที่ผ่านมาอาจมีผู้คนจำนวนไม่น้อยอยากให้วันเวลาผ่านไปโดยเร็ว เพราะคงมีหลายท่านที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 อย่างไรก็ดี ปลายอุโมงค์ยังมีแสงสว่างอยู่เสมอ จากสถานการณ์ปัจจุบัน ประเทศไทยเริ่มมีสัญญาณบวกและมีแนวโน้มที่จะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ได้ก่อนนานาประเทศ สะท้อนจากตัวเลขของผู้ติดเชื้อที่ลดลงในระดับต่ำกว่าสิบคนต่อวัน รวมถึงตัวเลขผู้ป่วยที่รักษาหายและกลับบ้านได้เกินกว่าร้อยละ 90 รัฐบาลจึงมีมาตรการผ่อนปรนให้ผู้ประกอบการกลับมาเริ่มดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้นและคงต้องมีมาตรการป้องกันอีกพักใหญ่ ถือเป็นสัญญาณที่ดีของประเทศไทยที่น่าจะกลับเข้าสู่ช่วงเวลาฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศได้อีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม เราอาจยังไม่สามารถพึ่งพารายได้จากการส่งออกสินค้าบางประเภท รวมถึงรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้ เพราะสถานการณ์ของโลกทั้งใบโดยเฉพาะประเทศคู่ค้าหลักของไทยยังคงเผชิญกับวิกฤตการณ์นี้กันอยู่ โดยข้อมูลเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2563 จำนวนยอดผู้ติดเชื้อสะสมมีมากกว่าสามล้านคนทั่วโลกและมีจำนวนผู้เสียชีวิตสูงกว่าสองแสนคน

หากเปรียบวิกฤตการแพร่ระบาดไวรัสโควิค-19 เป็นเหมือนภาพยนตร์สงคราม จะพบว่าประชาชนมีบทบาทเหมือนทหารแนวหน้าที่กำลังรบกับข้าศึกไวรัสโควิด-19 หากประชาชนต่อสู้โดยใช้อาวุธครบมือ (ใส่หน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือ เว้นระยะห่างทางสังคม ปฏิบัติตามข้อกำหนดอย่างเคร่งครัด) เราจะสามารถเอาชนะศึกครั้งนี้ได้โดยเกิดการสูญเสียน้อยที่สุด และยังไม่เป็นภาระกับบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งเปรียบเสมือนแพทย์สนามที่ต้องคอยรักษาทหารที่บาดเจ็บ (ประชาชนผู้ติดเชื้อ) อีกด้วย

Advertisement

นอกจากนี้ ภายหลังสงครามสิ้นสุดลง ประเทศที่เกิดสงครามจะได้รับความบอบช้ำไม่มากก็น้อย จึงต้องเร่งเยียวยาและฟื้นฟูประเทศให้กลับมาเข้มแข็งดังเดิม และปฏิเสธไม่ได้เลยว่าอาจมีบางสิ่งเปลี่ยนไปอย่างถาวร โดยสิ่งเหล่านั้นเรียกว่า นิว นอร์มอล (New Normal) หรือความปกติแบบใหม่ ซึ่งอะไรหลายๆ อย่างจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมของคน หรือแม้กระทั่งมิติการประกอบธุรกิจ ระบบเศรษฐกิจและสภาพสังคม เพราะทุกคนต้องปรับตัวจากข้อจำกัดที่เกิดขึ้น จนกลายเป็นสิ่งคุ้นชินและกลายเป็นเรื่องปกติในวิถีชีวิตรูปแบบใหม่บนโลกใบเดิม แม้แต่ภาครัฐเองก็ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์และความต้องการของประชาชน เช่นเดียวกับภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมก็ต้องปรับตัวรองรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

วันนี้ผมเลยอยากจะแชร์ไอเดียที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้ทำการวิเคราะห์โอกาสของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เป็นนิว นอร์มอล หลังสิ้นสุดสงครามไวรัสโควิด-19 ของประเทศไทยใน 6 มิติ ดังนี้

1.Global Food Producers ประเทศไทยมีจุดแข็งและมีความมั่นคงทางด้านอาหารสูง แม้ในสภาวะวิกฤตที่ทั้งโลกกำลังเผชิญ ซึ่งตอกย้ำภาพการเป็นผู้นำในตลาดอาหารโลกได้เป็นอย่างดี โดยต้องเร่งพัฒนาทั้งห่วงโซ่ของอุตสาหกรรมอาหาร ด้วยการใช้เกษตรอุตสาหกรรมพัฒนาตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง เพื่อตอกย้ำการเป็นฐานการผลิตอาหารอันดับ 1 ของโลก

Advertisement

2.Thai Digital Platforms ประเทศไทยจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเร่งสร้างแพลตฟอร์มการค้าออนไลน์และระบบขนส่งสินค้าเอกชนสัญชาติไทยขึ้นมาเพื่อรองรับธุรกิจ e-Commerce ที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างก้าวกระโดด เพื่อช่วยผู้ประกอบการไทยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียให้กับแพลตฟอร์มคนกลางของการค้าออนไลน์ ซึ่งเรียกเก็บค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเกือบทั้งหมดเป็นของต่างประเทศ

3.National Quality Infrastructure & Local Economy ประเทศไทยควรเร่งกระตุ้นให้เกิดการสร้างค่านิยมให้เห็นคุณค่าของสินค้าและบริการไทย (Made in Thailand) ควบคู่กับการส่งเสริมให้คนไทยเที่ยวเมืองไทย เพื่อให้เกิดการใช้จ่ายหมุนเวียนในประเทศ ต่อท่อน้ำเลี้ยงให้เศรษฐกิจฐานราก สร้างความเข้มแข็งของประเทศไทยจากภายใน

4.High Productivity & Industry 4.0 ประเทศไทยควรใช้โอกาสนี้ปรับเพิ่มผลิตภาพภาคการผลิตและบริการด้วยการใช้เทคโนโลยีไอทีและระบบออโตเมชั่น ลดการพึ่งพาแรงงานต่างด้าว เพื่อปรับระดับประสิทธิภาพการประกอบธุรกิจของประเทศไปสู่นิว นอร์มอล ลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 จากการข้ามพรมแดนที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ ซึ่งเป็นภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขของประเทศไทยอีกด้วย

5.Health and Wellness Tourism การที่ปัจจุบันประเทศไทยเปรียบเสมือนไข่แดงที่ควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิผลจนทั่วโลกต่างชื่นชม เราจึงควรใช้โอกาสจากจุดแข็งด้านระบบสาธารณสุขโปรโมตและยกระดับการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ที่ใส่ใจด้านอนามัย เน้นคุณภาพและความปลอดภัย โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่มีทิศทางและโอกาสเติบโตต่อเนื่อง

6.Medical and healthcare Industry ประเทศไทยควรเร่งส่งเสริมอุตสาหกรรมด้านการแพทย์และการสาธารณสุข ผลิตสินค้าเพื่อใช้เองในประเทศ โดยเฉพาะเครื่องมือแพทย์และสินค้าที่จำเป็นในการป้องกันและรักษาชีวิตประชาชน เพื่อรองรับปัญหาด้านสาธารณสุขในอนาคต

สุดท้ายนี้ ผมคาดว่านิว นอร์มอลทั้ง 6 มิติ ที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้ทำการวิเคราะห์มานี้ จะเป็นแนวทางให้ผู้ประกอบการหรือว่าที่ผู้ประกอบการใหม่ นำไปปรับใช้ในการวางแผนประกอบธุรกิจหลังวิกฤตสงครามไวรัสโควิด-19 สิ้นสุดลง เพื่อช่วยกันเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยให้กลับมาแข็งแกร่งและเติบโตยิ่งกว่าเดิม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image