กมธ.ดีอีเอส เร่ง ติดตามการวางระบบ5G เตรียมเชิญ “โอเปอร์เรเตอร์-กสทช.” แจงความคืบหน้าหลังเปิดสภาฯ

น.ส.กัลยา รุ่งวิจิตรชัย

“กมธ.ดีอีเอส” เร่ง ติดตามการวางระบบ5G “กัลยา” ชี้ ต้องเตรียมรับอุตสาหกรรมการผลิตใหม่ยุค “Telemedicine-Automation-Robotics” เผย เตรียมเชิญ “โอเปอร์เรเตอร์-กสทช.” แจงความคืบหน้าหลังเปิดสภาฯ “เศรษฐพงค์” แนะ ต้องเตรียมแรงงานให้พร้อม เพิ่มทักษะทำงานร่วมกับระบบอัตโนมัติ

เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม น.ส.กัลยา รุ่งวิจิตรชัย ส.ส.สระบุรี พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กมธ.ดีอีเอส) กล่าวว่า ขณะนี้กรรมาธิการ ดีอีเอส เราได้เริ่มติดตามการวางโครงข่าย 5G อย่างจริงจังว่ามีความคืบหน้าไปถึงไหนแล้ว และมีปัญหาอุปสรรคอย่างไร โดยเรามีแผนว่าเมื่อมีการเปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร ทางกรรมาธิการฯ จะได้เชิญ ตัวแทนทั้งฝ่ายผู้ให้บริการ สำนักงาน กสทช. และผู้ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ มาชี้แจงความคืบหน้าหลังจากที่ได้มีการประมูลคลื่น 5G ผ่านไปแล้วตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ ทั้งนี้ เราเห็นว่าโครงข่าย 5G จะทำให้เกิดโอกาสใหม่ในอุตสาหกรรมไทย เพราะวันนี้อุตสาหกรรมไทยยังเป็นเชิงอุตสาหกรรมโลกเก่าอยู่ ที่เป็นอุตสาหกรรมดั้งเดิม แต่โครงข่าย 5G จะนำเราไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ ที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ เช่น Telemedicine ซึ่งตอนนี้ทั่วโลกให้การยอมรับระบบสาธารณสุขไทยแล้ว เราจึงต้องฉวยโอกาสตอนนี้ปรับระบบ 5G ให้สอดคล้องกับอุตสาหกรรมใหม่ ไม่ว่าจะเป็นด้านสาธารณสุข การศึกษา เศรษฐกิจดิจิทัล ความมั่นคงปลอดภัย การขนส่ง การท่องเที่ยว ภาคเกษตรกรรม เป็นต้น ส่วนการลงทุนในยุคต่อไปจากนี้ หลังจากผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19ไป บริษัทระดับโลกอาจจะไม่มีการมาลงทุน หรือถอนทุนออกไป หากเทคโนโลยีของเราไม่พัฒนาเข้าสู่ Automation และ Robotics เพราะมีการมองกันแล้วว่าคนเป็นปัญหาของระบบการผลิต เพราะเมื่อเกิดวิกฤตแล้วคนออกมาทำงานไม่ได้ ก็ต้องพึ่งระบบอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์ เพื่อให้การผลิตเดินหน้าต่อไปได้

ประธานกมธ.ดีอีเอส กล่าวว่า เหล่านี้เป็นสิ่งที่กรรมาธิการฯ ให้ความสำคัญและจะติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้ประเทศไทยเสียโอกาส ทั้งที่เรามีศักยภาพในการที่จะพัฒนาระบบหรือโครงข่าย 5G ให้ทัดเทียมและมีคุณภาพเท่ากับหรือดีกว่าประเทศคู่แข่งอื่นๆได้ โดยเฉพาะเวลานี้ที่เกิดวิกฤตโควิด-19 แพทย์และผู้ป่วยไม่สามารถสัมผัสใกล้ชิดกันได้ ดังนั้น การใช้ระบบโครงข่ายและเทคโนโลยี 5G จะทำให้การแพทย์ก้าวหน้า และแพทย์กับคนไข้ไม่ต้องสัมผัสกันโดยตรง สามารถลดขั้นตอนการพบปะกันได้

“เมื่อก่อนนี้ คนไข้หลายคนต้องหาหมอหลายส่วนเพราะมีหลายโรค แต่เทคโนโลยีสามารถหาหมออย่างพร้อมเพรียงกันได้ ขณะเดียวกัน ปัจจุบันทุกคน Work from home คนก็ต้องปรับพฤติกรรมตัวเองทั้งหมด เรียนรู้การใช้เทคโนโลยี ค้าขายออนไลน์มากขึ้น พฤติกรรมเราต้องเปลี่ยนหมดเลยเพื่อรองรับเรื่องตรงนี้ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่กรรมาธิการให้ความสำคัญและเกาะติดอย่างใกล้ชิด และโครงสร้าง 5G จะตอบสนองนวัตกรรมต่างๆด้วย ถ้าเราไม่พัฒนาเทคโนโลยีของเราให้เข้าสู่ Automation หรือ Robotics ก็จะแข่งขันไม่ได้ มีหลายคนบอกว่า โควิดทำให้เศรษฐกิจถดถอย ยอมรับว่าจริง แต่ก็มีธุรกิจ การค้ารูปแบบใหม่เกิดขึ้น การพัฒนาก็ต้องเปลี่ยนไป เราต้องอยู่ให้ได้อย่างยั่งยืน แต่ก็ต้องวางมาตรการความปลอดภัยทางไซเบอร์ด้วย ซึ่งกรรมาธิการก็ให้ความสำคัญเรื่องนี้” น.ส.กัลยา กล่าว

Advertisement
พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ

ด้าน พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ฐานะรองประธานกมธ.ดีอีเอส กล่าวว่า เมื่อเราเตรียมพร้อมในด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการผลิตต่างๆแล้ว รวมถึงมีการพัฒนาโครงสร้าง 5G แล้ว สิ่งสำคัญอีกอย่างที่เราต้องเตรียมพร้อมคือ เรื่องบุคลากรที่ต้องมีการพัฒนาด้านทักษะให้มีความพร้อมในการทำงานกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้สอดคล้องกับการผลิตแบบอัตโนมัติ ซึ่งสิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องโดยเฉพาะรัฐบาลสามาระดำเนินการได้เลย เช่น การอบรมทักษะ ศึกษา เรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์ที่สามารถทำได้เลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการผลิตแบบอัตโนมัติ หรือบุคลากรทางการแพทย์ก็ต้องรองรับ Telemedicine รวมถึงให้ความรู้กับ SME ในเชิงของอุตสาหกรรมใหม่ ตรงนี้เป็นสิ่งที่เราต้องเตรียมพร้อม เพราะเมื่อมีเทคโนโลยีใหม่ ก็มีภัยคุมคามใหม่เช่นกัน ดังนั้น การเรียนรู้ก็ต้องปรับรูปแบบให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงด้วย
/////

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image