‘สรท.’​เผยส่งออก มี.ค.ขยายตัว 4.17% ย้ำภาพรวมทั้งปี’63 ยังติดลบ 8%

นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า การส่งออกเดือนมีนาคม 2563 มีมูลค่า 22,405 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 4.17% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 20,813 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 7.25% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้เดือนมีนาคม 2563 ประเทศไทยเกินดุลการค้า 1,592 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อหักทองคำ น้ำมันและอาวุธยุทธปัจจัย เดือนมีนาคม การส่งออกขยายตัว 2.12%

ขณะที่ ภาพรวมช่วงเดือนมกราคมมีนาคม 2563 หรือไตรมาส 1/2563 ไทยส่งออกรวมมูลค่า 62,672 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 0.91% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หดตัว -2.98% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ช่วงเดือนมกราคมมีนาคม 2563 ประเทศไทยเกินดุลการค้า 3,934 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อหักทองคำและน้ำมันน้ำมันและอาวุธยุทธปัจจัย เดือน มกราคมมีนาคม การส่งออกขยายตัว 1.06%

ทั้งนี้ การส่งออกในเดือนมีนาคม กลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัวที่ -1.1% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน โดยสินค้าที่ขยายตัวได้ดีอยู่ อาทิ น้ำตาลทราย ผัก ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และอาหารสัตว์เลี้ยง แต่สินค้ากลุ่มที่หดตัว ได้แก่ ยางพารา ข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ขณะที่ กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวที่ 6.4% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน

นางสาวกัณญภัค กล่าวว่า สรท.ยังไม่มีการปรับประมาณการตัวเลขการส่งออกไทยในปี 2563 โดยคาดว่าอาจหดตัว-8% บนสมมติฐานค่าเงิน 30.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งสรท.คงสมมติฐานค่าเงินบาทปี 2563 อยู่ที่ 30.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยมีปัจจัยบวกสำคัญ ได้แก่ การผ่อนปรนมาตรการล็อคดาวน์ในประเทศไทย สำหรับบางสถานประกอบการ ซึ่งเป็นการทำให้ธุรกิจสามารถเริ่มกลับมาประกอบการและทำการผลิตได้ตามปกติ อาทิ ร้านอาหาร ร้านค้าปลีก เป็นต้น, สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารแปรรูป เวชภัณฑ์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และทองคำ ได้รับอานิสงค์ต่อเนื่องจากผลการแพร่ระบาดโควิด-19 จากนโยบายล็อคดาวน์และเวิร์คฟอร์มโฮม ทำความต้องการสินค้าอาหารแปรรูปและผัก ผลไม้จากไทย และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงทองคำที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2563

Advertisement

สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่อาจเป็นอุปสรรคสำคัญ อาทิ เศรษฐกิจทั่วโลกได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 วัดจากตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ในช่วง ไตรมาส 1/2563 อาทิ จีน -6.8% สหรัฐฯ -4.8% ยุโรป-3.8% ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าหลักของไทยกระทบเป็นลูกโซ่กลับมายังเศรษฐกิจไทย ในระยะต่อจากนี้อาจมีปัญหาหนี้ครัวเรือนและกำลังซื้อของทุกๆ ประเทศทั่วโลกทยอยปรับลดลงอีกต่อเนื่อง, ผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด–19 โดยเฉพาะด้านโลจิสติกส์ อาทิ ทางอากาศ ขยายเวลาห้ามอากาศยานขนส่งคนโดยสารทางการบินเข้ามายังท่าอากาศยานในประเทศไทยเป็นการ ชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 เวลา 00.01 . ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2563 เวลา 23.59 . อาจทำให้ผู้ประกอบการนำเข้าส่งออกต้องแบกรับอัตราค่าระวางที่ปรับตัวขึ้นสูงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม สรท.ได้จัดทำข้อเสนอแนะต่อการดำเนินงานของภาครัฐ เพื่อเร่งดำเนินการภายหลัง สถานการณ์ แพร่ระบาดของโควิด-19 บางเบาลง อาทิ ด้านเศรษฐกิจและการส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศ อาทิ ฟื้นฟูด้านการเงินผ่านเงินกู้เพื่อผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และผู้ส่งออกขนาดกลางและขนาดใหญ่ พร้อมทั้งรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนให้อยู่ระหว่าง 32.50-34.00 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ และยกระดับอุตสาหกรรมเพื่อสุขภาพ เพื่อรองรับความต้องการของประชาชนและอุตสาหกรรมแบบชีวิต วิถีใหม่ หรือนิวนอมอล พร้อมทั้งฟื้นฟูด้านแรงงานให้มีงานและอาชีพที่มั่นคงอีกด้วย

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image