นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานเกียรติคุณ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เปิดเผยว่า ขณะนี้ธนาคารได้จัดสรรวงเงินกว่า1,000 ล้านบาท ในการออกโครงการ “สินเชื่อดอกเบี้ย 0% รักษาคนงานของเอสเอ็มอี” โดยเงินกู้ก้อนนี้จะนำไปจ่ายเงินเดือนพนักงานให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีพนักงานประมาณ 200 คน ในจำนวน 8,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลา3 เดือน พักชำระหนี้ 1 ปี อัตราดอกเบี้ย 0% ระยะเวลาสินเชื่อ 10 ปี ซึ่งธนาคารเตรียมเงินไว้สำหรับโครงการนี้ 1,000 ล้านบาท คาดว่าจะช่วยเหลือเอสเอ็มอีได้ 1,000 ราย ช่วยพนักงานได้กว่า 40,000 คน ซึ่งโครงการนี้ปล่อยกู้ให้เอสเอ็มอีที่เป็นลูกค้าของธนาคารเดิมที่มีผลประกอบการดีไม่ต่ำกว่า 5 ปี และใช้บัญชีที่มีรูปแบบให้ธนาคารเป็นผู้จัดการจ่ายเงินเดือนให้กับพนักงานเอง (Pay Roll) เพื่อให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กและกลาง (เอสเอ็มอี) สามารถจ่ายเงินเดือนให้กับพนักงานที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้
“ประเมินแล้วพบว่า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ไม่มีกำลังพอ ในการรับมือกับการสะดุดของเศรษฐกิจครั้งนี้มีจำนวนมากแม้ภาครัฐจะมีมาตรการที่ออกมาในด้านสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) แต่มองว่ายังต้องช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจเหล่านี้เพิ่มเติม โดยเฉพาะในส่วนเงินทุนหมุนเวียนที่จะประคองกิจการ โดยมุ่งช่วยคนที่อยู่ข้างล่างที่สุดของธุรกิจ คือ พนักงานของเอสเอ็มอีที่จะต้องตกงาน เพราะเถ้าแก่ก็ไม่มีทุนจ่ายเงินเดือนต่อ พนักงานก็จะตกงาน ซึ่งโครงการทำขึ้นเพี่อช่วยรักษาเอสเอ็มอีที่มีผลประกอบการที่ดี แต่เจอกับเหตุการณ์ที่ไม่ปกติ ถือเป็นเหตุสุดวิสัย ให้สามารถซื้อเวลารอฟื้นตัวได้ เมื่อปัญหาผ่านพ้นไปแล้ว เพราะหากผู้ประกอบการธุรกิจดีๆ จะต้องหายไปเพราะเหตุแบบนี้ก็คงจะน่าเสียดาย“ นายบัณฑูรกล่าว
นายบัณฑูรกล่าวว่า ส่วนอีกมาตรการจะให้การช่วยเหลือกลุ่มเสี่ยงที่ต้องต่อสู้กับโรคระบาด ซึ่งก็คือบุคลากรทางการแพทย์ ที่เป็นด่านหน้าสกัดโรคไม่ให้ระบาด เพราะเป็นส่วนที่เสี่ยงภัยที่สุด เหนื่อยที่สุดไม่มีวันหยุด หากคนยังป่วยอยู่จึงอยากมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือคนกลุ่มนี้สู่กับโรคระบาดด้วย จึงออกโครงการ “เบี้ยรบพิเศษสำหรับนักรบเสื้อกาวน์” เริ่มด้วยจุดที่มีความเสี่ยงสุดของประเทศในขณะนี้ได้แก่ 5 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ สงขลา นราธิวาส ยะลา ปัตตานีและสตูล ที่มีแนวโน้มมีการระบาดรุนแรงกว่าส่วนอื่น ซึ่งขณะนี้ได้ร่วมมือกับสาธารณสุขของจังหวัด ครอบคลุมโรงพยายบาล 45 แห่ง โดยบุคลากรทางการแพทย์ นอกจากแพทย์ พยาบาลแล้ว ยังครอบคลุมไปถึงผู้สัมผัสคนไข้ในรูปแบบต่างๆ ด้วย อาทิ บุคลากรด้านเทคนิค เจ้าหน้าที่ขนส่ง เจ้าหน้าที่ทำความสะอาด โดยในเบื้องต้นมูลนิธิกสิกรไทยจะสนุบสนุนเงินจำนวน 4,000 บาทต่อเดือน ซึ่งคนที่มีรายได้น้อยได้สัดส่วนมากกว่า โดยในเบื้องต้นประเมินว่าจะสามารถช่วยได้ประมาณ 20,000 คน ในระยะ 3 เดือน ซึ่งมูลนิธิกสิกรไทยเตรียมงบประมาณไว้ 300 ล้านบาท โดยการแจกครั้งนี้จะไม่ผ่านใคร หากมีบัญชีธนาคารกสิกรไทยก็โอนเข้า หากไม่มีก็โอนผ่านพร้อมเพย์ ซึ่งขณะนี้ได้ประสานกับทางสาธารณสุขจังหวัดไว้แล้ว สามารถเริ่มได้ภายในปลายเดือนนี้
“ตอนนี้เหมือนเป็นช่วงศึกสงคราม โดยเชื้อโรคถือเป็นข้าศึกที่อันตรายมาก บุคลากรทางการแพทย์จึงต้องสกัดให้ได้แต่ระหว่างที่ทีมแพทย์ต่อสู่กับไวรัสอยู่นั้น กิจกรรมทางเศรษฐกิจก็หยุดหมุนตามไปด้วย เพราะการค้าขายสะดุดลง เราจึงต้องมาช่วยกัน เนื่องจากหากสถานการณ์ยืดเยื้อไวรัสไม่จบลง ปัญหาจะหนักหนามากกว่านี้ แต่หวังว่าหมอแก้ปัญหาได้ โดยทั้ง 2 โครงการที่จัดขึ้นมานั้น ไม่ได้เกี่ยวกับจดหมายของใครอะไรทั้งสิ้น เพราะไม่เคยได้รับ แต่ที่ทำเพราะอยากเป็นส่วนหนึ่งที่ให้กำลังใจบุคลากรทางแพทย์ ที่ทั้งเสี่ยงและเหนื่อยที่สุดในการต่อสู้ครั้งนี้มากกว่า“
นายบัณฑูรกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม สินเชื่อที่ปล่อยไปในขณะนี้มีความเสี่ยงสูง เพราะว่าเป็นสถานการณ์ที่ไม่ปกติ อย่างโครงการเอสเอ็มอีนี้ปล่อยไปเท่าไหร่ก็สำรองทันที แต่หากยังมองแบบเดิมๆ ที่ว่าความเสี่ยงสูงขึ้นแบงก์ต้องจำกัดการปล่อยกู้ ก็คงจะแย่กันหมด เพราะตอนนี้ไม่ใช่สถานการณ์ปกติ จึงทำอย่างปกติไม่ได้ ก็ต้องยอมเสียประโยชน์ระยะสั้นเพื่อให้ได้ประโยชน์ในระยะยาวเป็นเรื่องของความยั่งยืน เพราะหากไม่แก้ไขเรื่องเฉพาะหน้าในระยะสั้น ระยะยาวก็ไม่มีเหมือนกัน ซึ่งสินเชื่อที่ปล่อยไปก็ทำใจไว้แล้วส่วนหนึ่ง และหากต้องกลายเป็นหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) ก็ต้องปล่อยไปแม้กำไรของธนาคารปีนี้จะเป็น 0% เพราะต้องนำไปตั้งสำรองเพิ่ม แต่ยังอยู่ในระดับที่รับได้ แต่จะต้องพยายามไม่ให้ลามไปถึงต้นทุน เพราะระบบสถาบันการเงินต้องกล้าเสี่ยง และใช้กำไรเข้ามาช่วยพยุงธุรกิจแม้ว่าปีนี้จะไม่มีกำไร ไม่สามารถจ่ายปันผล หรือจ่ายโบนัสพนักงานได้ ก็ต้องทำเพื่อพยุงให้ทุกฝ่ายเดินหน้าไปด้วยกันให้ได้ก่อน อย่างไรก็ตาม ทุกฝ่ายควรประเมินสถานการณ์โควิด-19 ให้ชัดเจน และจัดสรรทรัพยากรแจกจ่ายให้เข้าถึงกลุ่มคนที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างแท้จริง ไม่ตกหล่นระหว่างทาง เพราะหากเป็นอย่างนั้นตอนจบจะหาไม่เจอ โดยทุนสำรองภาครัฐเอกชน สถาบันการเงินมีจำกัด ต้องทำให้มีประสิทธิมากที่สุด และไม่หลอกตัวเอง จึงต้องอดผลประโยชน์เฉพาะหน้าเพื่อไม่ให้ธุรกิจล้ม และฟื้นในระยะยาว