‘กรมประมง’ขยายเวลาลงลูกกุ้งหวังช่วยเกษตรกรหนีพิษโควิด

นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ราคากุ้งทะเลตกต่ำ และผลกระทบด้านโรคกุ้งทะเล ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรรายย่อยที่ประสบปัญหาขาดทุนไม่มีทุนเพียงพอที่จะดำเนินกิจการ และขาดแรงจูงใจที่จะประกอบอาชีพเลี้ยงกุ้งต่อไป เมื่อปี 2561 กรมประมงจึงได้จัดทำโครงการเพิ่มขีดความสามารถด้านการผลิตและการตลาดกุ้งทะเลเพื่อการบริโภคภายในประเทศ ปี 2561 เสนอขอรับการสนับสนุนเงินจากกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรวงเงินรวม 314.8 ล้านบาท ระยะเวลาการดำเนินโครงการฯ ปีงบประมาณ 2561-2564 โดยได้รับการอนุมัติกรอบวงเงินโครงการฯ เมื่อเดือนมกราคม 2562 เพื่อดำเนินงาน 3 กิจกรรม ได้แก่ 1.จัดหาลูกพันธุ์กุ้งคุณภาพเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตกุ้งทะเล 2.เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตกุ้งทะเล และ 3.กิจกรรมเพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการตลาดบริโภคกุ้งทะเลในประเทศ

สำหรับ โครงการฯ ระยะที่ 1 เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งที่สามารถสมัครเข้าร่วมโครงการฯ ได้จะต้องมีพื้นที่ฟาร์มทุกฟาร์มรวมกันไม่เกิน 20 ไร่ และได้รับการรับรองมาตรฐานฟาร์ม มาตรฐานการผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัย (มกษ.) 7501 – 2557/ มาตรฐานตามระบบจัดการคุณภาพ (จีเอพี) มกษ. 9000 – 2552 เล่มที่ 1 หรืออยู่ในระหว่างการต่ออายุรับรองมาตรฐานที่ตรวจรับรองโดย กรมประมง หรือหน่วยงานรับรองเอกชนที่ได้รับการรับรองระบบจากสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ แต่โครงการฯ ระยะที่ 1 มีเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งที่ผ่านการอนุมัติให้เข้าร่วมโครงการฯ เพียง 1,684 ราย จากเป้าหมายโครงการฯ 6,000 ราย ด้วยเหตุนี้ กรมประมงจึงเปิดโครงการฯ ระยะที่ 2 และปรับคุณสมบัติเกษตรกรในโครงการฯ เพื่อให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งได้รับประโยชน์สูงสุดจากการจัดทำโครงการฯ

“เกษตรกรสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการฯ ระยะที่ 2 ได้ที่สหกรณ์ สมาคม ชมรมและกลุ่มฯ ที่ตนเป็นสมาชิกโดยเกษตรกรเลือกสมัครได้เพียงสังกัดเดียว และต้นสังกัดจะเป็นผู้รวบรวมใบสมัครส่งให้สำนักงานประมงจังหวัดในพื้นที่พิจารณาต่อไป นอกจากนี้ กรมประมงยังได้ขยายระยะเวลาการลงลูกกุ้งของเกษตรกรในโครงการฯ ไปจนถึงเดือนพฤษภาคม 2564 เพื่อให้เกษตรกรในโครงการฯ ได้มีระยะเวลาเตรียมความพร้อมในการเลี้ยงกุ้ง หลังจากปรับเปลี่ยนแผนการเลี้ยงจากผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19” นายมีศักดิ์กล่าว

นายมีศักดิ์ กล่าวต่อว่า สำหรับ คุณสมบัติเกษตรกรที่จะเข้าร่วมโครงการฯ ระยะที่ 2 ต้องไม่เป็นเกษตรกรที่ได้รับอนุมัติให้เข้าร่วมโครงการฯ ระยะที่ 1 ต้องมีพื้นที่ฟาร์มทุกฟาร์มรวมกันไม่เกิน 40 ไร่ และต้องได้รับการรับรองมาตรฐานฟาร์มฯ โดยพื้นที่ฟาร์มตามทะเบียนผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (ทบ.1) และพื้นที่ฟาร์มตามการรับรองมาตรฐานฟาร์มจะต้องตรงกันก่อนสมัครเข้าร่วมโครงการฯ โดยแบ่งกำหนดการรับสมัครออกเป็น 2 ช่วง ดังนี้ ระหว่างวันที่ 12 พฤษภาคม -15 กรกฎาคม 2563 รับสมัครเกษตรกรที่แจ้งความประสงค์เข้าร่วมโครงการฯ ไว้แล้ว ระหว่างวันที่ 15 มิถุนายน – 15 กรกฎาคม 2563 รับสมัครเกษตรกรที่ยังไม่ได้แจ้งความประสงค์เข้าร่วมโครงการฯ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image