นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้สั่งการให้ 7 หน่วยงานที่เป็นนายทะเบียน รับขึ้นทะเบียนเกษตรกร ประกอบด้วย กรมส่งเสริมการเกษตร กรมประมง กรมปศุสัตว์ กรมหม่อนไหม การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) สำนักงานอ้อยและน้ำตาล และการยาสูบแห่งประเทศไทย เตรียมตั้งหน่วยงานรับเรื่องร้องเรียนหรืออุทธรณ์ กรณีเกษตรกรอาจไม่พอใจหรือรายชื่ออาจตกหล่น ไม่ได้รับสิทธิ์ช่วยเหลือตามมาตรการเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 จำนวนเงิน 5,000 บาทระยะเวลา 3 เดือน จากรัฐบาล แต่จะต้องรอให้มีการประกาศรายชื่อ และจ่ายเงินงวดแรกผ่านพ้นไปก่อน จึงจะเปิดรับการร้องเรียนต่อไป
สำหรับ หลักเกณ์การลงทะเบียนของแต่ละหน่วยงานที่ไม่เหมือนกัน เป็นเรื่องของระเบียบราชการ ที่กำหนดไว้เพื่อพิสูจน์ความเป็นเกษตรกร ในแต่ละสาขาเกษตร โดยพืช ประมง ปศุสัตว์ ส่วนใหญ่จะลงทะเบียนเป็นครัวเรือน ยกเว้น ยางพาราที่ขึ้นทะเบียนตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยางพาราแห่งชาติ ที่ขึ้นทะเบียนเป็นราย เจ้าของสวน คนกรีดยาง คนเช่าสวนยางพารา คนที่ปลูกในป่า ทั้งหมดมีคุณสมบัติ เป็นชาวสวนยางตาม พ.ร.บ.ยางพารา
“หน่วยงานที่คัดเลือกเกษตรกร จะเสนอรายชื่อไปยังกระทรวงการคลัง เพื่อพิสูจน์ความซ้ำซ้อนของโครงการเยียวยาเกษตรกร และโครงการเราไม่ทิ้งกัน เพื่อให้เข้าเกณฑ์ 1 คนต่อ 1 สิทธิ์ และเพื่อไม่ให้การช่วยเหลือตกหล่น มีคนไม่ได้รับเงินเยียวยา กระทรวงเกษตรฯ ตัดสินใจเลือกเกษตรกร ที่มีทะเบียนกับกรมส่งเสิรมการเกษตร หรือนายทะเบียนอื่นๆ เพื่อเป็นการยืนยันว่า เป็นเกษตรกรตัวจริง ส่วนทะเบียนเกษตรที่ชาวนา ที่จะมีทะเบียนได้ ต้องลงทะเบียนเป็นครัวเรือน ได้รับสิทธิ์ เป็นครัวเรือน ส่วนยางพารา ขึ้นทะเบียนเป็นราย จึงได้รับสิทธิเงินเยียวยาเป็นราย นั้น เพราะทะเบียนเกษตรกร มีระเบียบการขึ้นทะเบียนแตกต่างกัน และยางพารามีกฏหมายยางควบคุม” นายอนันต์กล่าว
อย่างไรก็ตาม สำหรับกลุ่มเกษตรกรที่ไม่เคยมีทะเบียน รัฐบาลให้โอกาสขึ้นทะเบียนเพิ่มภายใน 15 พฤษภาคมนี้ โดยชาวนา บางส่วนมีปัญหาเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียน เพราะเป็นช่วงฤดูแล้ง ยังไม่สามารถทำนาได้ และในเขตชลประทาน กรมชลประทานก็ขอความร่วมมือให้รอกรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเข้าฤดูฝนอย่างเป็นทางการ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายกับการทำนาหากฝนทิ้งช่วงนั้น เรื่องนี้ต้องลงพื้นที่ไปสำรวจ เพราะเป็นเรื่องที่พิสูจน์ได้