“สันติธาร” แชร์ “หลัก 3 อยู่” ในช่วงโควิด-19

“สันติธาร” แชร์ “หลัก 3 อยู่” ในช่วงโควิด-19

โควิด-19 เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุด นายสันติธาร เสถียรไทย นักเศรษฐศาสตร์ภาคเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ผู้เขียนหนังสือ Futuration ได้โพสต์เฟซบุ๊กแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตและการทำกิจการ/กิจกรรมต่างๆ ภายหลังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 สงบ โดยอาศัยหลัก 3 อยู่ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ระยะ

ทั้งนี้ข้อความดังกล่าวระบุว่า

“ระยะสั้น อยู่รอด
ระยะกลาง อยู่เป็น
ระยะยาว อยู่ยืน

นี่คือ “หลัก 3 อยู่” ในช่วงโควิดที่วันก่อนเพิ่งนึกขึ้นได้สดๆ ในรายการสัมภาษณ์กับคุณ ถามอีก กับอิก Tam-Eig

Advertisement

ต้องขอขอบพระคุณ ที่มีหลายคนบอกมาหลังไมค์ว่า ชอบและมีถามให้ขยายความต่อสำหรับบทบาทต่างๆ เลยขอแชร์ข้างล่างนี้ครับ

1.ระยะสั้น คือ ภาวะ Abnormal วิกฤติเศรษฐกิจที่เรียกว่า “Great Lokcdown” แบบโลกหยุดที่เราเจอมา

“อยู่รอด” คือการเน้นเอาตัว/ทีมเราให้รอด ในช่วงที่เสมือนต้อง “กลั้นหายใจ”

Advertisement

หากเป็นเจ้าของธุรกิจ/ผู้บริหาร

– การลดต้นทุนต่างๆดูแลกระแสเงินสดให้ดี
– หยิบแผนสำรองทางธุรกิจ (BCP) มาใช้
– หาความช่วยเหลือทุกด้านเพื่อให้ไปต่อได้และ
– รักษาเก็บคนในทีมให้ได้มากที่สุด

หากเป็นพนักงาน

– พยายามทำตัวให้มีประโยชน์ที่สุดให้บริษัทเห็นโดยเข้าใจความท้าทายที่บริษัทกำลังเผชิญ
– อย่าแค่นั่ง “รอ” วันที่โลกจะกลับมาเหมือนเดิม

หากเป็นนักลงทุน

– Cash is King เก็บเงินสดก่อน!

2.ระยะกลาง คือ New Abnormal ที่กำลังมาเยือน

ไวรัสยังอยู่แต่เริ่มมีการเปิดเมืองเพื่อให้เศรษฐกิจพออยู่ได้ แต่เปิดแบบไม่เต็มที่ (เช่น ร้านอาหารนั่งคนเดียวต่อโต๊ะ) เพราะต้องระวังความเสี่ยงไวรัสระลอกสอง เปิดแล้วมีเสี่ยงอาจกลับไปปิดใหม่

จะอึดอัดเสมือนกลั้นหายใจมานานแล้วอยากสูดออกซิเจนให้เต็มที่แต่อาจทำได้ที่ละนิด

“อยู่เป็น” คือ รู้จักบริหารความเสี่ยง มีความยืดหยุ่นและปรับตัวได้เร็ว (Resilient & Agile)

หากเป็นเจ้าของธุรกิจ/ผู้บริหาร

– มียุทธศาสตร์บริหารความเสี่ยงที่ดี เตรียมวางแผนแบบมีหลาย Scenario มีตัววัดชัดเจนที่ดูว่าโลกน่าจะไปสู่ Scenario ไหน

– ใช้เวลานี้ทดลองผลิตภัณฑ์และกระบวนใหม่ๆ (เช่น ลองช่องทางดิจิทัล) แต่อย่า เปิดตัวใหญ่ ใส่เงินเยอะ ออกตัวแรง

– บริหารโดยบนฐานของข้อมูลยิ่งกว่าเก่า(Data dependent) เพราะหลักความคิดเดิมๆอาจใช้ไม่ได้

– ที่สำคัญต้องทำการสื่อสารภายในกับพนักงานให้ดีเพราะความไม่แน่นอนในช่วงนี้จะมีผลกับกำลังใจมาก อาจเปิดโอกาสให้เขาแสดงความคิดเห็นและมีส่วนร่วมมากขึ้นในบางเรื่องก้วย

– สร้างปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าไว้ตลอดเท่าที่ทำได้ให้รู้สึกว่าเรากำลังต่อสู้ไปด้วยกัน เราจะได้ใจกันก็ตอนนี้แหละ

หากเป็นพนักงาน

– หาทางมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นที่ทำงานแบบ 360 ทั้งนาย-เพื่อน-ลูกน้อง เพราะในช่วงอยู่รอดตรงนี้อาจจางลงไป

– พร้อมปรับตัวตามสถานการณ์บริษัทที่เปลี่ยนตลอดเวลา

– ใช้เวลานี้ เริ่มหาโอกาสที่จะช่วยเหลือบริษัทในรูปแบบใหม่ ลองค้นหาว่าตัวเองมีทักษะหรือความสนใจอะไรที่จะสามารถสร้างValueให้บริษัทเพิ่มจากเดิมได้ไหมแม้อาจจะไม่ตรงกับกรอบหน้าที่เราเป้ะ

หากเป็นนักลงทุน

– อาจเริ่มมองโอกาสในการลงทุนอีกครั้งโดยค่อยๆ เริ่มจากการลงในสินทรัพย์ที่เรามี Strong views

– แต่อย่าจัดหนัก ค่อยๆเติมเพราะโลกอาจพลิกได้อีก ยังควรมีเงินสดเก็บเป็นกระสุนไว้พอควร

– ตามข้อมูลให้ใกล้ชิดเพราะช่วงนี้dataจะเริ่มออกมาแล้วชี้ว่า ประเทศไหน บริษัทไหน ภาคอุตสาหกรรมใดจะอยู่รอดหรืออาจจะแกร่งขึ้น

3.ระยะยาว คือ หลังไวรัสผ่านพ้นไป เช่นมีวัคซีน เข้าสู่ ปกติใหม่ที่แท้จริง (New Normal) เราคงไม่ต้องนั่งคนเดียวในร้านอาหารแล้ว เราไปเที่ยวได้แล้ว!

“อยู่ยืน” คือ การลงทุน/ปรับถาวร เพื่อความยั่งยืนระยะยาว โดยทำความเข้าใจว่าอะไรที่น่าจะเปลี่ยนไปถาวร อะไรเป็นแค่ชั่วคราวที่จะอยู่แค่ช่วง Abnormal และถามตัวเองว่าอะไรที่เราอยากปรับมานานแล้วแต่ไม่ได้ทำสักที

ขอย้ำว่ายุทธศาสตร์ “อยู่ยืน” ต้องเริ่มทำตั้งแต่ก่อนจะเข้าช่วง New Normal เพียงแต่มา “เหยียบคันเร่งเต็มที่” ในช่วงนี้เมื่อปัจจัยภายนอกต่างๆ เริ่มนิ่งขึ้น

หากเป็นเจ้าของธุรกิจ/ผู้บริหาร

– วิเคราะห์จุดแข็ง-จุดอ่อน-โอกาส-ความเสี่ยงของบริษัทเรา (ทำ SWOT) ในโลกใหม่

– หากดูเหมือนบางธุรกิจอาจไม่กลับมาเหมือนเดิมอีกอาจต้องทำการตัดสินใจว่าจะหันหัวเรือใหม่อย่างไร

– เลือกผลิตภัณฑ์/กระบวนการใหม่ที่เวิร์คจากช่วงที่ทดลองแล้วดูว่าน่าจะใช้ถาวรได้ไหม เช่น เราอาจจะพบว่าไม่ต้องเดินทางไปประชุมมากเท่าเก่า การขายของออนไลน์ ทำอีเพย์เมนต์อาจมาช่วยเสริมวิธีเดิมๆ

– เปิดโอกาสให้ พนักงานที่มีความเป็น “ผู้ประกอบการภายใน” (intrapraneur) ที่โชว์ผลงานดีคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ช่วยเหลือบริษัทได้มากในช่วงที่ผ่านมาให้ขึ้นมามีบทบาทสำคัญมากขึ้น

หากเป็นพนักงาน

– ทำการวิเคราะห์จุดแข็งจุดอ่อนของตนเองและบริษัทใน New Normal เพื่อเข้าใจว่าธุรกิจเราจะเป็นอย่างไร บริษัทขาดอะไร และเราอาจช่วยอะไรได้

– สร้างทักษะใหม่ เสริมทักษะเก่า เพื่อให้ตนเองสามารถเพิ่ม value ให้บริษัทได้ในรูปแบบใหม่ๆและสร้าง career path ใหม่ที่ดีกว่าเดิมได้

หากเป็นนักลงทุน

– ลดสัดส่วนเงินสดกลับเข้าลงทุนเต็มตัวตามธีมโลกใหม่หลังโควิด (ซึ่งมีอะไรบ้างคงต้องมานั่งคิดกันอีกยาวครับ)

แน่นอนทั้งหมดเป็นแค่ตัวอย่างจากทั้งประสบการณ์ตัวเองจากทั้งที่อ่านและพูดคุยกับคนอื่น ไม่ได้ครบหมดทุกอย่าง

หวังว่าพอมีประโยชน์นะครับ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image