สนข.เร่งสรุปแผนขนส่งมวลชนภูมิภาคทั่วประเทศเล็งยก3เมืองต้นแบบ

นายวิจิตต์ นิมิตวานิช นักวิชาการขนส่งทรงคุณวุฒิ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยภายในงานสัมมนาครั้งที่ 2 เกี่ยวกับการศึกษาการจัดทำแผนหลักการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเมืองภูมิภาคของประเทศ ที่โรงแรมพูลแมน คิงเพาเวอร์ว่า ขณะนี้ สนข.อยู่ระหว่างการจัดทำแผนหลักการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเมืองภูมิภาค 78 เมืองทั่วประเทศ ไม่รวมเมืองที่มีอยู่ในระหว่างการศึกษา อาทิ ภูเก็ต เชียงใหม่ นครราชสีมา ขอนแก่น และหาดใหญ่ เพื่อใช้เป็นกรอบและภาพรวมของการจัดทำระบบขนส่งสาธารณะในแต่ละเมือง และการจัดทำแผนพัฒนาระบบการขนส่งสาธารณะในเขตเมือง เพื่อกำหนดรูปแบบและระบบขนส่งสาธารณะที่มีความเหมาะสมตามผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในจังหวัด (จีพีพี) ปริมาณประชากร และศักยภาพการพัฒนาของแต่ละเมือง ซึ่งจำแนกได้ 3 ประเภท คือ 1.กลุ่มเมืองศักยภาพสูง (แอล) โดยจะมีการจัดทำแผนนำร่องในจ.พิษณุโลกเพื่อใช้เป็นต้นแบบให้แก่เมืองอื่นๆภายในกลุ่ม

2.กลุ่มเมืองศักยภาพปานกลาง (เอ็ม) โดยจะมีการนำร่องในจ.อุบลราชธานี และ3.กลุ่มเมืองศักยภาพพื้นฐาน (เอส)โดยจะมีการนำร่องในจ.สระแก้ว รวมทั้งยังได้จัดทำคู่มือ เพื่อใช้เป็นแนวทางและวิธีการในจัดทำระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมือง หากเมืองใดมีความพร้อมที่จะจัดทำระบบขนส่งสาธารณะด้วยตนเอง ซึ่งแผนทั้งหมดคาดว่าจะจัดทำแล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2559 โดยหลังจากนั้นจะมีการเสนอไปยังนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อพิจารณาเห็นชอบ และหลังจากนั้นจะมีการนำเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) เพื่อพิจารณาออกเป็นแผนปฏิบัติการ (แอ็คชั่น แพลน)ต่อไป

นายรังสรรค์ อดุมศรี รองผู้จัดการโครงการฯ กล่าวว่า สำหรับผลการศึกษาเบื้องต้นของแผนพัฒนาระบบการขนส่งสาธารณะในเขตเมือง ซึ่งมีการนำร่องในจ.พิษณุโลก คาดว่าจะใช้รูปแบบระบบขนส่งมวลชนแบบผสม ประกอบด้วย รถโดยสารด่วนพิเศษ (บีอาที) หรือ รถโดยสารด่วนพิเศษแบบราง (แอลอาที) เพื่อเชื่อมต่อกับรถโดยสารประจำทาง และรถประเภทอื่นๆ ซึ่งจะใช้งบประมาณทั้งหมด 25,000 ล้านบาทภายในระยะเวลา 20 ปี ส่วนจ.อุบลราชธานี คาดว่าจะใช้รูปแบบของรถโดยสารด่วนพิเศษ (บีอาที) หรือ รถโดยสารด่วนพิเศษแบบราง (แอลอาที) โดยจะใช้งบประมาณทั้งหมด 20,000 ล้านบาทภายใน 20 ปี และจ.สระแก้ว คาดว่าจะใช้รูปแบบของรถโดยสารประจำทางในเขตเมือง และรถโดยสารประเภทอื่นๆเพื่อเชื่อมต่อบริเวณด่านชายแดน เนื่องจากมีศักยภาพการเติบโตที่สูง ซึ่งจะใช้งบประมาณทั้งหมด 15,000 ล้านบาทภายใน 20 ปี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image