โอกาสจะกลายเป็นวิกฤต! อ.จุฬาฯ ชี้ปัญหา12ข้อ การพัฒนาระบบรางกับ Thailand 4.0

วันนี้ (20 ก.ค.) ผศ.ดร.ประมวล สุธีจารุวัฒน อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตรองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ สถาบันการขนส่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความทางเฟสบุ๊ก “Assistant Professor Pramual Suteecharuwat, Ph.D.” ถึงปัญหาการพัฒนาการขนส่งระบบราง และศักยภาพในการนำประเทศไทยตามยุทธศาสตร์ Thailand 4.0 มีรายละเอียดดังนี้

บางทีผมก็ไม่เข้าใจ

1. เรื่องเร่งด่วนอย่างการซ่อมบำรุงหนักระบบแอร์พอร์ตลิงค์ ที่เรากำลังใช้งานไปแบบเสี่ยงๆ ท่านๆ ก็ทำให้กระบวนการช้า ประมูลแล้วล้ม ล้มแล้วว่ากันใหม่ วนไปวนมา จนระยะทางที่ใช้งานเกินลิมิตตามสเปคไปแล้วไม่รู้เท่าไหร่ ที่ผมไม่เข้าใจคือถ้ากระบวนการมันไม่ถูก แล้วปล่อยให้มันเดินหน้าไปจนต้องวกกลับมาล้มกันทำไม

2. แต่ในเวลาเดียวกัน โครงการประมูลสายอื่นๆ ก็เดินหน้าเต็มที่ เผลอๆ เร็วกว่าการซ่อมบำรุงโครงการเก่า

Advertisement

3. เมื่อมีโอกาสทำความเข้าใจกัน ทุกฝ่ายก็ล้วนเห็นด้วยกับหลักคิดส่งเสริมการใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศ ท่านนายกฯ ก็มีคำสั่งทั้งเป็นลายลักษณ์อักษร และด้วยวาจา แต่เท่าที่ผมทราบ ก็ไม่มีความเคลื่อนไหวอะไร

4. หลายท่านอธิบายว่า หากเปลี่ยนวิธีการจัดซื้อ หรือแม้แต่เพิ่มเติมข้อกำหนดเพื่อเอื้อให้เกิดการสนับสนุนอุตสาหกรรมในประเทศก็อาจจะทำให้โครงการช้าออกไป

5. ผมสนับสนุนการทำโครงการระบบรางต่างๆ ตามที่กระทรวงคมนาคมกำลังเร่งทำ แต่การเร่งเดินหน้าโครงการโดยการจัดซื้อ โดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับการบูรณาการระบบ ตั้งแต่การบริหารเทคโนโลยี ระบบอาณัติสัญญาณ ไปจนการบูรณาการเดินรถและการซ่อมบำรุง ในที่สุดทุกโครงการจะผ่านไป ทุกคนจะได้ทำโครงการที่อยากทำ คนทั่วไปก็จะได้ใช้งานระบบรถไฟใหม่ๆ อยากที่อยากได้ แต่ก็จะก่อปัญหาการบริหารงานซ่อมบำรุง การจัดหาอะไหล่ ให้กับคนในอนาคต

Advertisement

6. ทุกวันนี้เราบ่นเรื่องระบบรถไฟฟ้าแทบทุกระบบเสียหายบ่อยๆ จนทำให้ต้องเสียงานเสียการ หรือเกือบเกิดเหตุรุนแรงเมื่อไม่กี่เดือนก่อน โปรดอย่าลืมว่าวันนี้เรามีแค่ 3-4 ระบบ (ที่แตกต่างกัน) คือ BTS MRT และ SARL หากปัญหาเชิงระบบ เชิงนโยบายยังไม่ได้รับการแก้ไข อีกไม่นานเมื่อทุกระบบถูกประมูลเสร็จและผ่านการใช้งานไปสักระยะ ความวุ่นวายในสเกลที่ใหญ่กว่า ซับซ้อนกว่าจะตามมา

7. ผมพูดเรื่องนี้มาตั้งแต่ก่อน SARL จะเปิดดำเนินการ ทุกอย่างก็เป็นไปอย่างที่ผมเคยพูด แต่สังคมนี้จะลุกกันขึ้นมาตกอกตกใจกันเฉพาะเมื่อเหตุเกิด พอควันจางหายไป ทุกคนก็ใช้ชีวิตไปตามเดิม รอจนกว่าเหตุจะเกิดขึ้นใหม่ ทั้งๆ ที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าการกำหนดนโยบายที่ผิดพลาดย่อมนำมาซึ่งปัญหา

8. ผู้มีอำนาจกำหนดแผนกำหนดทิศทางในวันนี้คงไม่อยู่คอยแก้ปัญหาใหญ่ที่จะเกิดตามมาภายใน 10-15 ปีข้างหน้า หรือหนักสุดๆ ราวๆ 20 ปี เมื่อไทยเข้าสู่สภาวะสังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ และอาจมีหมัดบวกจากการถดถอยของอุตสาหกรรม ถึงตอนนั้นคนที่ไปรับไม้ดูแลประเทศไทยต่ออาจจะได้เจอศึกหนักทั้งเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม

9. ภาวนาเหลือเกิน ให้ท่านๆ รับฟังเรื่องนี้บ้าง ไม่ใช่ปาหี่เรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (ทางกายภาพ) การเป็นฮับของ AEC (ในขณะที่มาเลเซีย อินโดฯ พม่า เร่งพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่เพื่อใช้เป็นกลไกการพัฒนาบุคลากรกันโครมๆ) และ Thailand 4.0 แบบเพ้อๆ มีแต่ key words ที่ไม่รู้ว่า demand อยู่ที่ไหน ใครต้องทำ ทำอย่างไร ไปวันๆ

10. ย้ำอีกครั้ง ใช้ demand ไปพัฒนา supply … อย่าเอะอะจะทำแต่ supply โดยไม่รู้ว่า demand อยู่ที่ไหน

11. ระบบการศึกษาไทยไม่ไปไหน เพราะรัฐไม่เคยใช้กลไกของตัวเองสร้าง demand แล้วใช้ demand ไปพัฒนาการศึกษา มหาวิทยาลัยมีแต่ต่างแข่งกันเปิดหลักสูตร แข่งกันตั้งสถาบัน แข่งกันของบวิจัย ซึ่งทำไม่สนองความต้องการตลาด บัณฑิตจึงตกงาน ไม่ใช่เพราะตลาดไม่ต้องการแรงงาน แต่ผลิตภัณฑ์ไม่สนองความต้องการ ในเวลาเดียวกันรัฐกลับมัวแต่ให้ความสำคัญกับการประกันคุณภาพการศึกษาที่เน้นแต่พิธีกรรมกับการกรอกแบบประเมิน

12. โอกาสดีของรัฐบาลพิเศษแบบ คสช. คือปฏิรูประบบ จัดทัพ ปรับองค์กร วางยุทธศาสตร์ แต่ถ้าไม่ทำ เอาแต่เร่งกระบวนการจัดซื้อ ทำสารพัดโครงการภายใต้เหตุผลความเร่งด่วน (ซึ่งรัฐบาลปกติเขาก็ทำกันได้) อีกไม่นานโอกาสดีๆ ก็จะลอยหายไป ทิ้งไว้แต่เรื่องราวให้คนในอนาคตบ่นเสียดาย พร้อมๆ กับปัญหาใหญ่ระดับ Mega Problems
เสียดาย เสียดาย เสียดาย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image