เมื่อวันที่ 13 มกราคม ที่ห้องแพลนนารี่ ฮอลล์ 2 ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ได้มีการจัดพิธีลงนาม “บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ(เอ็มโอยู)สร้างสัมมาชีพเต็มพื้นที่ โดยใช่พื้นที่เป็นตัวตั้ง สู่เศรษฐกิจฐานรากที่ยั่งยืน” โดยมีเอ็มโอยูทั้งหมด 3 ฉบับ ประกอบด้วย องค์กร ชุมชน เครือข่ายสัมมาชีพ และหน่วยงานรัฐพร้อมภาคเอกชนมากกว่า 30 องค์กรเข้าร่วม เช่น พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าทีมขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากภาครัฐ กับเอกชนหลายอื่นๆ อาทิ นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังพิธีลงนาม ว่า เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ของไทยกว่า 30 ล้านคน เป็นเกษตรกรที่ต้องพึ่งการเจริญเติบโตจากในประเทศ แต่กลับมีสัดส่วนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) เพียง 10% เท่านั้น ดังนั้น นายกฯ ได้มอบให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) สร้างเศรษฐกิจฐานรากให้เติบโต ทำอย่างไรให้ผลผลิตในประเทศมาจากฐานรากมากขึ้น ซึ่งในปี 59 จะมี 5 มาตรการใหม่ออกมาดังนี้ เช่น การขับเคลื่อนนโยบายแบบแนวดิ่งและแนวนอน โดยในแนวดิ่ง นายกฯ ได้ให้กระทรวงมหาดไทยจะลงทุนโครงสร้างพื้นฐานชนบทมากขึ้น เช่น ยุ้งฉาง ลานตาก โรงสีขนาดเล็ก ส่วนแนวนอนจะให้สมาชิกกองทุนหมู่บ้านต่างๆ เสนอโครงการที่ต้องการลงทุนต่อคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้าน
2.การให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารออมสิน พัฒนายกระดับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีภาคการเกษตร ส่งเสริมให้ผลิตสินค้าเกษตรและแปรรูปสินค้าเพิ่มมูลค่าเพิ่ม ขายสินค้านอกชนบท จนถึงขายในต่างประเทศ โดยวันนี้ได้มีการเซ็นเอ็มโอยูระหว่าง ธ.ก.ส. ธนาคารออมสินและสภาเกษตรกรแห่งชาติ เพื่อสร้างบุคลากรต้นแบบในการพัฒนาให้เกิดเอสเอ็มอีภาคเกษตรแล้ว
“ขณะนี้กระทรวงการคลัง และคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กำลังออกแบบมาตรการจูงใจให้บริษัท หรือเกษตรกรลงทุนตั้งโรงงานแปรรูปสินค้าในชนบท โดยเราจะให้สิ่งจูงใจพิเศษ เช่น บริษัท ก เป็นบริษัทยักษ์ ลงทุนตั้งโรงงานร่วมกับชนบท เกษตรกร สามารถยกระดับสินค้าเกษตรกรได้ แรงจูงใจคือบริษัทนั้นสามารถนำมาหักค่าใช้จ่ายของบริษัทในเครือได้”นายสมคิดกล่าว
3.จะต้องมีการสร้างตลาดประชารัฐรองรับสินค้าผลผลิตที่ออก ซึ่งภาคเอกชนจะมาเข้าร่วมช่วย ที่มีคอนเนคชั่นต่างประเทศ นำสินค้าไปขายในโมเดิร์นเทรด 4.การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในระดับชุมชนท้องถิ่น เรียกว่า 1 ตำบล 1 แหล่งท่องเที่ยว หรือหากไม่ไหว ก็เป็น 1 อำเภอ 1 แหล่งท่องเที่ยวได้ เช่น บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ที่มีสถานีเติมน้ำมันอยู่แล้ว ก็จะนำสินค้าเกษตรมาวางขาย และ 5.ครม.ได้มีมติเห็นชอบการลงทุนพัฒนาโครงสร้างอินเตอร์เน็ตบอร์ดแบรนด์ทุกหมู่บ้านแล้ว เพื่อให้เกษตรกรสามารถจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซได้
นายสมคิดกล่าวว่า การขับเคลื่อนประชารัฐร่วมกัน ตอนนี้ได้มีการตั้งคณะกรรมการ ร่วมระหว่างภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน เพื่อขับเคลื่อน แล้วทั้งเรื่องการศึกษา ภาคสังคม การพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ รวมทั้งหมด 12 เรื่อง ซึ่งกำลังสรุปอยู่ว่า เอกชนรายใดจะเข้ามาช่วยอย่างไร ดังนั้นใครก็ตามที่พูดว่า เจ้าสัวจะมากินประเทศ จะมาฮุบรายย่อย กรุณาฟังให้จบ สิ่งนี้คนดีๆ ตั้งใจจะทำ อย่าให้เขาท้อ หากเขาท้อแล้วละทิ้ง การรวมตัวจะไม่มี
“ไทยลำบากพอละ ประเทศอื่นใกล้แซงหน้าเราละ เราต้องการความสามัคคี ไม่เชื่อก็ขอให้รอดู ขอให้เห็นใจนายกฯ ต้องให้เวลาบ้าง จะด่าไม่ก็เป็นไร แต่รอพิสูจน์ผลงานว่า นายกฯ ทำอะไรได้บ้าง หากทำไม่สำเร็จ ก็บอกได้ว่า ทำเต็มที่แล้ว แต่คนไทยทุกคนต้องช่วยกัน ไม่ไม่พอใจอะไรก็จะปรับแต่ครม.”นายสมคิดกล่าว
นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หลังจากได้มีการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนประชารัฐ ได้มีการพูดคุยถึงภาพรวมการทำงาน แบ่งเป็น 3 ข้อ 1.การสร้าฝชุมชนให้เข้มแข็ง 2.การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และการเพิ่มขีดความสามารถ ทั้งนี้ในส่วนของการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว เบื้องต้นเอกชนได้รับทราบนโยบาย โดยเอกชนได้มีงบประมาณในการจัดฝึกอบรม จัดสัมมนาให้กับพนักงาน ซึ่งบริษัทจะมุ่งเน้นการจัดอบรมตามพื้นที่ในต่างจังหวัดมากขึ้น เนื่องจากจะช่วยในเรื่องของการสร้างรายได้ให้กับพื้นที่อื่นๆ เช่น ที่พัก โรงแรม ร้านอาหาร และไม่มุ่งให้มารวมกันที่ กรุงเทพฯ อย่างเดียว
นายฐาปนกล่าวว่า นอกจากนี้การจัดอบรมนอกสถานที่ยังทำให้มีการสร้างรายได้ต่อเนื่อง โดยคนที่มาต่างจังหวัดมักซื้อของฝาก ของที่ระลึกอยู่แล้ว รวมทั้งภาคเอกชนยังสามาถเข้ามาเชื่อมโยงในด้านของการจัดหาตลาดให้กับเกษตรกร โดยทราบจากบริษัทห้างร้านขนาดใหญ่ว่า พร้อมที่จะจัดหาพื้นที่ตลาดนอกห้างสรรพสินค้ารองรับสินค้าเกษตร หรือที่เรียกว่า “ฟาร์มเมอร์ มาร์เก็ต” อีกด้วย