“บินไทย” บนเส้นทางสู่ ”ล้มละลาย” ถามใจรัฐ กล้าใช้ ”ยาแรง”?

“บินไทย” บนเส้นทางสู่ ”ล้มละลาย” ถามใจรัฐ กล้าใช้ ”ยาแรง”?

สถานะของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) สายการบินแห่งชาติ กับผลขาดทุนสะสมนับแสนล้าน ที่แผนฟื้นฟูกิจการถูกตีกลับหลายรอบ มีการพูดถึงอาจต้องเข้าสู่กระบวนการศาลล้มละลาย
ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า ตอนนี้อยู่ในเรื่องของขั้นตอนทางกฎหมายว่าจะทำอย่างไร เพราะมีกฎหมายอยู่ 2 ตัว คือ กฎหมายของสหภาพแรงงานและกฎหมายรัฐวิสาหกิจ ซึ่งมีอำนาจในตัวเอง ดังนั้นวิธีการที่จะเข้าไปแก้ไข ก็ต้องหาวิธี ถ้าหาวิธีอื่นได้ก็ดี แต่ถ้าไม่มีก็ต้องกลับเข้าไปสู่ขั้นตอนของกฎหมาย

หลายคนตีความว่า นั่นคือการเข้าสู่กระบวนการศาลล้มละลาย เพื่อการฟื้นฟูกิจการ
ก่อนหน้านี้กระทรวงคมนาคมในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลการบินไทย ได้ออกมาชี้แจงแนวทางการผ่าตัดการบินไทยแบ่งเป็น 2 แนวทาง

แนวทางที่ 1 คงสภาพการบินไทยเป็นรัฐวิสาหกิจ แผนฟื้นฟูการบินไทย รัฐดูแลสภาพคล่องการเงิน และรักษาการเป็นสายการบินแห่งชาติ

แนวทางที่ 2 เข้าสู่กระบวนการตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย, แปลงสภาพการบินไทยเป็นเอกชน และลดขนาดองค์กร แก้ปัญหาหนี้สิน

Advertisement

นเรศ ผึ้งแย้ม ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ในนามสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาล หากรัฐบาลจะพิจารณาแบบไหน อย่างไร เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องตัดสินใจ แต่ในมุมมองของสหภาพยังอยากจะมีโอกาสอยู่ต่อ สู้ต่อ ซึ่งมุมมองดังกล่าวอาจเป็นเพียงมุมเดียว แต่สำหรับนายกรัฐมนตรีต้องมองในหลายมุม ซึ่งต้องรับผิดชอบต่อสังคมและประเทศ

แต่เมื่อสำรวจความเห็นจากนักวิเคราะห์หลายสำนัก เกี่ยวกับทางออกของการบินไทยเห็นว่า รัฐจะเลือกแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของการบินไทยด้วยการให้คงความเป็นรัฐวิสาหกิจต่อไปก่อน จากนั้นใส่เงินเข้าไปฟื้นฟู 5-7 หมื่นล้านบาท และระหว่างทางก็แก้โจทย์ใหญ่ ผ่าตัดองค์กร ตัดแบ่งขายกิจการที่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก เพื่อให้เหลือธุรกิจที่เป็นธุรกิจหลักจริงๆ จากนั้นถึงจะเพิ่มทุน
ตอนนี้หากเพิ่มทุนไป 2 แสนล้านบาทก็ขายไม่ได้อยู่ดี ใครจะกล้าเสี่ยงมาลงทุน รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังก็คงไม่เลือกเพิ่มทุนจนกว่าจะมีการผ่าตัด และแต่งตัวใหม่ให้กับการบินไทย นั่นคือตัวธุรกิจหลักที่จะเป็นตัวเพิ่มทุน

ในส่วนของนักวิเคราะห์จาก บล.เคจีไอ เชื่อว่าเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องคิดหนัก และการที่กระทรวงการคลังจะลดสัดส่วนการถือหุ้นลงต่ำกว่า 50% ทำให้การบินไทยจะไม่เป็นรัฐวิสาหกิจต่อไปนั้น มี 2 เรื่องที่เชื่อว่ารัฐบาลต้องชั่งน้ำหนัก

Advertisement

นั่นคือ 1.หากการบินไทยไม่เป็นรัฐวิสาหกิจก็เท่ากับประเทศไทยจะไม่มีสายการบินที่เป็นของไทยอย่างแท้จริง เพราะเมื่อไปดูสายการบินที่ดำเนินการอยู่ในไทยตอนนี้ เช่น ไทยแอร์เอเชียเป็นของมาเลเซีย ไทยไลอ้อนแอร์เป็นของอินโดนีเซีย ไทยเวียตเจ็ทเป็นของเวียดนาม ขณะที่บางกอกแอร์เวย์สเป็นของเอกชนไทย
2.หากการบินไทยไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ เท่ากับรัฐบาลไม่ช่วยเหลือ ปล่อยให้ล้มละลาย การบินไทยจะต้องคืนสิทธิการบินในแต่ละเส้นทางให้องค์กรการบินระหว่างประเทศ เท่ากับไทยจะไม่สามารถบินเข้าสู่หลายประเทศได้เหมือนเดิมอีก

แต่ไม่ว่าจะเลือกเดินแนวทางใด ก่อนอื่น แผนอุ้มการบินไทยต้องชัดเจน ในที่สุดเลี่ยงไม่ได้จริงๆ ก็ต้องกล้าเข้าฟื้นฟูกิจการตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย

บางคนเสนอมุมมองให้ใช้การทำแผนฟื้นฟูกิจการภายใต้ พ.ร.บ.ล้มละลาย เป็นการส่งสัญญาณถึงสหรัฐอเมริกาว่า ไทยจะไม่รับมอบฝูงเครื่องบินโบอิ้งที่สั่งซื้อจากสหรัฐ เพราะการบินไทยอาการหนักจริง หมดเวลาเกรงใจสหรัฐแล้ว เพราะในวันที่ 25 เมษายน 2563 โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐยืนยันการตัดสิทธิประโยชน์ทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) ทำให้สินค้าของไทยต้องเจอกับกำแพงภาษีนำเข้าของสหรัฐ ไทยเองก็น่าจะใช้สิทธิไม่รับเครื่องบินโบอิ้ง เพราะการบินไทยก็ขาดทุนอย่างหนักหน่วงเช่นเดียวกัน

สิ่งที่ต้องตามต่อจากนี้ คือหลังจาก นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สั่งการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปทบทวนแผนฟื้นฟูกิจการการบินไทยให้สมบูรณ์ โดยให้การบ้านต้องพิจารณาว่าการบินไทยสามารถดำเนินการได้ตามแผนฟื้นฟูหรือไม่ ต้องมีรายละเอียดแผนปฏิบัติการ (แอ๊กชั่นแพลน) ที่ชัดเจน รวมถึงจะต้องอธิบายเรื่องที่เป็นความเสี่ยง 23 ความเสี่ยง อาทิ แผนรายได้ แผนบริหารหนี้สาธารณะ แผนรายจ่าย และการวิเคราะห์ผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 เป็นต้น ให้เป็นไปตามหลักการของนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้ดำเนินการโดยปราศจากอคติใดๆ

ในท้ายที่สุด การบินไทยจะต้องเสนอแผนฟื้นฟูให้กับกระทรวงคมนาคมที่ได้ขีดเส้นตายวันที่ 21 พฤษภาคมนี้ ซึ่งจะต้องติดตามบทสรุปสายการบินแห่งชาติแห่งนี้ เลือกเดินในทิศทางใด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image