‘วันนอร์’ ย้ำ ‘การบินเสรี’ คือโอกาส ไม่ใช่ต้นเหตุขาดทุน ท้าเปิดผลประกอบการปี 45-48 พิสูจน์ได้

‘วันนอร์’ ย้ำ ‘การบินเสรี’ คือโอกาส ไม่ใช่ต้นเหตุขาดทุน ท้าเปิดผลประกอบการปี 45-48 พิสูจน์ได้

นาย วันมูหะมัดนอร์ มะทาอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม 2 สมัยในยุครัฐบาลทักษิณ ยืนยันว่า การเปิด ‘การบินเสรี’ ตั้งแต่ปี พ ศ 2545 มิใช่สาเหตุหลักที่ทำให้การบินไทยขาดทุน แต่เราต้องเปิดเสรีการบิน เพราะโลกเปลี่ยนและเราต้องปรับตาม ‘กระแสโลกาภิวัตน์’ และในปี พ.ศ. 2545 รัฐบาลในสมัยนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร จึงออก ‘นโยบายการบินเสรี’ และใช้อำนาจตามกฏหมายที่มีอยู่ของทรวงคมนาคม เปิดการบินเสรีเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ รวมถึง ตอบสนองความต้องการในการเดินทางการเดินทางที่เพิ่มขึ้นของผู้คน (ภายในประเทศ) ให้เพียงพอและให้สอดรับกับแรงผลักดันจากต่างประเทศที่การบินพาณิชย์ระหว่างประเทศมีความเสรี รวมถึง มีการจัดทำข้อตกลงในการเปิดเสรีการบินพาณิชย์ระหว่างประเทศทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคีเพิ่มมากขึ้นโดยลำดับ

“ไม่เปิดไม่ได้ เพราะถ้าไม่เปิดการท่องเที่ยวของไทยจะไม่เจริญรุ่งเรืองถึงวันนี้ และการเปิดเสรีทางการบินทำให้เรามีรายได้จากการท่องเที่ยวอย่างเป็นล่ำเป็นสันเรื่อยมา”

“รัฐบาลของนายกทักษิณประกาศนโยบายเสรีการบิน ส่วนกระทรวงคมนาคมก็ใช้อำนาจตามกฏหมายและที่บอกว่า ‘เปิดเสรีทางการบิน’ แล้ว การบินไทย ‘ขาดทุน’ ก็ไม่จริง เพราะ ตัวเลขกลมๆ แต่ละปี เช่น ปี 2545 ได้กำไร 10,000 ล้านบาท ปี 2546 ได้กำไร 20,000 ล้านบาท ปี 2547 ได้กำไร 10,076 ล้านบาท ส่วนปี 2548 กำไรลดลงนิดหน่อย เพราะมีเหตุผันผวนทางการเมือง แต่ก็ยังได้กำไรถึง 7,000 ล้านบาท และปี 2549 ได้กำไร 6,300 ล้านบาท เป็นต้น ”

” ภายใต้เงื่อนไขการเปิดเสรีทางการบินและที่แปลก คือ ปี พ.ศ.2557 ขาดทุน 15,000 ล้านบาท และ โดยสรุประหว่างปี พ.ศ.2557-2562 ขาดทุนประมาณ 60,000 กว่าล้านบาท” และการขาดทุนในระยะหลังไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับการเปิดเสรีทางการบิน แต่น่าจะเกิดจากการบริหารที่ไม่ถูกที่ถูกทาง หรือ ไม่มีประสิทธิภาพ ส่วนจะมีการคอรัปชั่นหรือไม่ก็ต้องให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ และการขาดทุนก็จะโทษเรื่องเศรษฐกิจของโลกตกต่ำก็ไม่ได้อย่างถนัดปากมากนักเพราะสายการบินอื่นๆทั่วโลกเช่น Lufthansa ยังได้กำไรตั้ง 40,000 ล้านบาท ส่วน Quantasได้กำไร 30,000 ล้านบาทและ Singapore Airlines ยังได้กำไรถึง 15,000 ล้านบาทเป็นต้น คือ สายการบินอื่นๆ ได้กำรี้กำไรกันทั้งสิ้น”

Advertisement

“ในฐานะที่เคยดูแลการบินไทยและเป็นคนไทย ‘ การบินไทย’ ซึ่งชื่อเสียงดีและได้รับการยอมรับ ‘ต้องอยู่ต่อและอยู่อย่างมีเกียรติ’ อีกทั้ง ต้องปรับตัวให้รู้และเท่าทันการแข่งขันแบบมืออาชีพ และมั่นใจว่าเราทำได้ ทั้งในส่วนของการเป็นศูนย์กลาง (Hub) ทางการบินและศูนย์กลางการท่องเที่ยวของอาเซียน”

“เรามีสนามบินสุวรรณภูมิที่สามารถรองรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าออกได้เป็นอย่างดีและที่ผ่านมาเห็นเป็นเชิงประจักษ์แล้วว่าสนามบินสุวรรณภูมิมีศักยภาพเพราะสามารถรองรับนักเดินทาง หรือ นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอีก 30 ล้านคน รวมเป็น 60 ล้านคนซึ่งเคยเดินทางผ่านเข้าออกสนามบินดอนเมือง และ ‘สนามบินสุวรรณภูมิ’ ถือว่าเป็นข้อได้เปรียบที่สำคัญและพร้อมที่จะเป็น Hub การท่องเที่ยวของอาเซี่ยนได้ ” นาย วันมูหะมัดนอร์ มะทา กล่าวทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image