นายเจอโรม เพาเวลล์ ประธานธนาคารกลาง (เฟด) ของสหรัฐอเมริกา ให้สัมภาษณ์รายการ ซิกซ์ตีมินิท ของสถานีโทรทัศน์ซีบีเอสเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคมที่ผ่านมา ยอมรับว่า สหรัฐอเมริกากำลังเผชิญวิกฤตหนักหน่วงที่สุดอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่ยังไม่สาหัสเท่ากับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเมื่อทศวรรษ 1930 เพราะเศรษฐกิจโลกก่อนที่จะเผชิญวิกฤตครั้งนี้อยู่ในสภาพแข็งแกร่ง ระบบธนาคารก็แข็งแกร่งขึ้นมากนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินที่ผ่านมา
นายเพาเวลล์ยอมรับว่า ในสหรัฐอเมริกา ตำแหน่งงานกว่า 30 ล้านตำแหน่ง ถูกทำลายไปเพราะการแพร่ระบาด ธุรกิจได้รับผลกระทบเสียหายไปทั่วประเทศ จากความพยายามยับยั้งการแพร่ระบาด พร้อมกันนั้นก็ระบุว่า เศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 2 ระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายนนี้จะเลวร้ายอย่างยิ่ง กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะลดลงมหาศาลควบคู่ไปกับการว่างงานที่เพิ่มขึ้นสูงมากได้โดยง่าย เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาอาจติดลบมากถึง 20-30 เปอร์เซ็นต์ในช่วงเวลาดังกล่าว อัตราว่างงานอาจขึ้นสู่ระดับสูงสุดที่ 20-25 เปอร์เซ็นต์ แต่เชื่อว่าภาวะร่วงลงดังกล่าวนี้จะสั้นกว่าสถานการณ์ในยุคเศรษฐกิจตกต่ำ
ประธานเฟดเชื่อว่า วิกฤตครั้งนี้กับวิกฤตการณ์ในทศวรรษ 1930 มีพื้นฐานที่แตกต่างกัน และยังมีความต่างที่สำคัญอื่นๆ อีกอาทิ อัตราดอกเบี้ยในเวลานี้ไม่ได้อยู่ในระดับสูงเหมือนในเวลานั้น แต่ถูกลดลงมาเกือบเป็นศูนย์ และมีการเตรียมพร้อมรองรับและค้นหาแนวทางใหม่เพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อีกครั้ง
นายเพาเวลล์เชื่อว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะเริ่มฟื้นตัวในไตรมาสที่สามของปีนี้ แต่จะเป็นไปอย่างช้าๆ และการกลับคืนสู่ภาวะปกติเต็มที่ อาจไม่สามารถเกิดขึ้นได้จนกว่าจะมีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันโควิด-19 ดังนั้นการฟื้นตัวจึงอาจยืดเยื้อออกไปจนถึงในราวปลายปี 2021 ก็เป็นได้ ไม่มีใครคาดการณ์ได้จริงๆ
ประธานเฟดยังยืนยันด้วยว่า พร้อมที่จะดำเนินมาตรการอื่นๆ ต่อไปอีกเพื่อรองรับการฟื้นตัว แต่เตือนว่ารัฐบาลจำเป็นต้องจัดสรรงบประมาณออกมาเพื่อรองรับผู้ใช้แรงงานและธุรกิจให้เพียงพอเพื่อให้การฟื้นตัวเป็นไปได้
“ถ้าเราปล่อยให้คนไม่มีงานทำเป็นเวลานานๆ ถ้าปล่อยให้ธุรกิจล้มไปโดยไม่จำเป็น หลายระลอก สิ่งเหล่านี้จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจ การฟื้นตัวก็จะเชื่องช้าตามไปด้วย” นายเพาเวลล์กล่าว