‘กรมชลฯ’​ เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำ หลังอุตุฯประกาศเข้าฤดูฝนปี’63

‘กรมชลฯ’​ เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำ หลังอุตุฯประกาศเข้าฤดูฝนปี’63

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ว่า สภาพอากาศเนื่องจากพายุไซโคลน “อำพัน” บริเวณอ่าวเบงกอลตอนกลาง มีแนวโน้มที่จะเคลื่อนตัวเข้าสู่อ่าวเบงกอลตอนบนและประเทศบังคลาเทศ ในช่วงวันที่ 20-21 พฤษภาคม​นี้ ทำให้มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทยและอ่าวไทยมีกำลังแรง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนและภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น กับมีฝนตกหนักบางพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 22-24 พฤษภาคม​ มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทยมีกำลังอ่อนลง ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนลดลง ส่วนภาคใต้มีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง

สำหรับ สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศ ปัจจุบัน มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกันประมาณ 33,956 ล้านลูกบาศก์เมตร​ (ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 45 ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 10,293 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีกกว่า 42,000 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำรวมกัน 8,228 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 33 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 1,532 ล้าน ลบ.ม.

นายทวีศักดิ์​ กล่าวต่อว่า ด้านแผนการจัดสรรน้ำฤดูฝนทั้งประเทศ ปัจจุบัน มีการใช้น้ำไปแล้ว 1,647 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 14 ของแผนจัดสรรน้ำฯ เฉพาะในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำไปแล้ว 542 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 17 ของแผนจัดสรรน้ำฯ ที่วางไว้

นายทวีศักดิ์​ กล่าวว่า กรมฯ สั่งการให้โครงการชลประทานในพื้นที่ เตรียมความพร้อมทั้งด้านเจ้าหน้าที่ เครื่องจักร เครื่องมือ ประจำจุดพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม รวมทั้งอาคารชลประทาน และประตูระบายน้ำต่างๆ ให้สามารถใช้งานได้ตลอดเวลา โดยระยะนี้ปริมาณฝนอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดี จะเน้อกักเก็บน้ำไว้ให้ได้มากที่สุด ตามศักยภาพของอ่างเก็บน้ำ ซึ่งจะควบคุมระดับน้ำด้านเหนือเขื่อนควบคู่ไปกับการระบายน้ำ จะต้องไม่กระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายน้ำ

Advertisement

นอกจากนี้ ยังให้สำรวจและจัดเก็บวัชพืชไม่ให้กีดขวางทางน้ำ เพื่อปริมาณน้ำจะสามารถไหลได้สะดวก ส่วนด้านการเพาะปลูกแม้กรมอุตุนิยมวิทยาได้ประกาศเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว ขอให้เกษตรกรวางแผนการเพาะปลูกโดยคำนึงถึงปริมาณน้ำต้นทุนจากแหล่งน้ำของตนหรือแหล่งน้ำธรรมชาติ ประกอบกับปริมาณฝนตกสม่ำเสมอก่อน เนื่องจากน้ำชลประทานจะสำรองไว้ใช้เพื่อการอุปโภค-บริโภค รักษาระบบนิเวศเป็นหลัก จะใช้ด้านการเกษตรก็ต่อเมื่อเกิดฝนทิ้งช่วงเท่านั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image