หดตัวเกินประมาณการ ‘กนง.’ โหวต 4 ต่อ 3 หั่นดอกเบี้ยลง 0.25% พยุง ศก.หลังสถานการณ์ ‘โควิด’

กู้เงิน

หดตัวเกินประมาณการ “กนง.” โหวต 4 ต่อ 3 หั่นดอกเบี้ยลง 0.25% พยุง ศก.หลังสถานการณ์ “โควิด”

เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น่าจับตามองเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิด เนื่องจากสัญญาณต่างๆ บ่งบอกว่า เห็นการหดตัวชัดเจน

ก่อนหน้านี้ นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า ผลการประชุมคณะกรรมการ กนง.มีมติ 4 ต่อ 3 เสียง เมื่อวันที่ 20 พ.ค. มีมติให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ต่อปี ทำให้อัตราดอกเบี้ยลงมาอยู่ที่ระดับ 0.50% จากเดิมอยู่ที่ระดับ 0.75% โดยมีผลทันที

เนื่องจากคณะกรรมการประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2563 มีแนวโน้มหดตัวมากกว่าประมาณการเดิม ตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่หดตัวรุนแรงกว่าที่คาดการณ์ไว้ และผลกระทบจากมาตรการควบคุมการระบาดทั่วโลก รวมถึงอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มติดลบกว่าที่ประเมินไว้

และเสถียรภาพในระบบการเงินเปราะบางมากขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ กรรมการส่วนใหญ่เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนปรนมากขึ้น จะช่วยลดผลกระทบจากปัจจัยลบที่เกิดขึ้น จะสามารถสอดประสานกับมาตรการการคลังของรัฐบาล และมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อที่ได้ออกไปก่อนหน้านี้

Advertisement

นายทิตนันทิ์กล่าวว่า ขณะที่กรรมการที่เห็นต่าง 3 คน เห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อยากให้เร่งรัดประสิทธิผลของมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อที่ได้ประกาศไปแล้ว ทั้งนี้ คณะกรรมการส่วนรวมเห็นว่าควรผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ โดยเฉพาะครัวเรือนและธุรกิจขนาดเล็กและกลาง (เอสเอ็มอี) ให้เกิดผลในวงกว้างมากขึ้น และเร่งรัดการให้สินเชื่อผ่านโครงการต่างๆ ที่ได้ออกมาก่อนหน้า เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องให้ตรงจุดและทันการณ์

ทางด้านนายชาญชัย พันทาธนากิจ ผู้จัดการฝ่าย กลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปัจจัยที่ต้องติดตามต่อไปคือ สถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 หลังจากรัฐบาลผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์เฟส 2 ต้องจับตาอย่างใกล้ชิดว่า สถานการณ์การระบาดในประเทศจะยังสามารถควบคุมได้ดีอยู่หรือไม่ ที่ผ่านมา ถือว่าทำได้ดีมาก รวมถึงกำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไทย ในไตรมาส 1/2563 ที่ได้ทยอยประกาศออกมาอย่างต่อเนื่อง ภาพรวมของ บจ.ไทยดูไม่ค่อยสดใสมากนัก ทำให้มีความเสี่ยงที่จะมีการปรับลดกำไรของตลาดลงมา

โดยจากเดิมประเมินว่ากำไรต่อหุ้น (อีพีเอส) ในตลาดจะอยู่ที่ 72.6 บาทต่อหุ้น แต่พอกำไรไตรมาส 1 ออกมาต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ จึงมีโอกาสในการปรับกำไรตลาดลงมาอยู่ในระดับ 65-66 บาทต่อหุ้น กลยุทธ์การลงทุนที่แนะนำคือ เน้นลงทุนในหุ้นที่มีการจ่ายปันผลสูง และได้อานิสงค์เชิงบวกจากการปรับลดดอกเบี้ย อาทิ แอดวานซ์ ปตท. ส่วนกรอบการเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 1,310-1,330 จุด” นายชาญชัยกล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image